วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑๐ การเขียนโครงการ

ความหมายของโครงการ
            คำว่า โครงการมีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “project”  เป็นแผนงานที่จัดทำขึ้นอย่างรอบคอบเป็นระบบพร้อมกับมีแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของแผนงานที่ได้กำหนดไว้ โดยใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานอย่างคุ้มค่ามีจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดชัดเจนมีพื้นที่ในการดำเนินงานเพื่อให้บริการมีบุคคล หรือหน่วยงานรับผิดชอบ
 ลักษณะสำคัญของโครงการ
        การเขียนโครงการ  มีลักษณะการเขียนแตกต่างไปจากการเขียนประเภทอื่น ๆ โครงการที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑.  ต้องมีระบบ (System) 
โครงการต้องประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นกระบวนการถ้าส่วนใดเปลี่ยนแปลงไปจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ ตามไปด้วย
๒.  ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน (Clear  Objective)
โครงการต้องกำหนดวัตถุประสงค์สอดคล้องกับความเป็นมาของโครงการมีความเป็นไปได้ชัดเจนและเป้าหมายของโครงการต้องประกอบด้วยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
๓.  ต้องเป็นการดำเนินงานในอนาคต (Future  Operation)
เนื่องจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมามีข้อบกพร่องจึงควรแก้ไขและปรับปรุงโครงการจึงเป็นการดำเนินงานเพื่ออนาคต
๔.  เป็นการทำงานชั่วคราว (temporary task) โครงการเป็นการทำงานเฉพาะกิจเป็นคราว ๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาไม่ใช่การทำงานที่เป็นการทำงานประจำ หรืองานปกติ
๕.  มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
(Difinitely Duration)โครงการต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน โดยกำหนดเวลาเริ่มต้น และเวลาที่สิ้นสุดให้ชัดเจน  ถ้าไม่กำหนดเวลาหรือปล่อยให้โครงการดำเนินไปเรื่อย ๆ ย่อมไม่สามารถประเมินผลสำเร็จได้ซึ่งจะกลายเป็นการดำเนินงานตามปกต
.  มีลักษณะเป็นงานที่เร่งด่วน (Urgently task) โครงการต้องเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสนองนโยบายเร่งด่วนที่ต้องการจะพัฒนางานให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ หรือเป็นงานใหม่
๗.  ต้องมีต้นทุนการผลิตต่ำ (Low Cost)การดำเนินงานตามโครงการต้องมีการใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณโครงการจะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมีการลงทุนน้อย   แต่ได้รับประโยชน์สูงสุด
๘.  เป็นการริเริ่มหรือพัฒนางาน (Creativity or Developing) โครงการต้องเป็นความคิดริเริ่มที่แปลกใหมเพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรค และพัฒนางานให้เจริญก้าวหน้า
 ความสำคัญของโครงการ
    เนื่องจากโครงการ (Project) เป็นสารที่เรียบเรียงขึ้นเป็นขั้นตอน  และมีแผนปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังนั้นโครงการจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของแผนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานการวางแผนโครงการ   มีกระบวนการและขั้นตอน  เช่นเดียวกับการวางแผนโดยทั่วไป คือ ประกอบด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์  การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล  การพิจารณาถึงอุปสรรค ปัญหา  ค้นหาโอกาสเลือกแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปได้  หรือวิถีทางที่ดีที่สุดและกระบวนการสุดท้าย คือ การตรวจสอบ ทบทวนและการประเมินผลโครงการ  ดังนั้นโครงการจึงมีความสำคัญต่อแผนการการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
๑.  ช่วยชี้ให้เห็นถึงปัญหา  และภูมิหลังของการทำงาน
๒.  ช่วยให้การปฏิบัติงานตามแผนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๓.  ช่วยให้แผนงานมีความชัดเจน โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและรับรู้ถึงปัญหาร่วมกัน
๔.  ช่วยให้แผนงานมีทรัพยากรใช้อย่างเพียงพอ เหมาะสมกับสภาพปฏิบัติจริง  เพราะมีรายละเอียดการใช้ทรัพยากรที่ชัดเจน
๕.  ช่วยให้แผนงานมีความเป็นไปได้สูงเพราะมีผู้รับผิดชอบ และมีความเข้าใจในการดำเนินงาน

๖.  ช่วยลดความขัดแย้ง  และขจัดความซ้ำซ้อนในหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน
เพราะแต่ละหน่วยงาน   มีโครงการที่ได้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ  เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของบุคคลในหน่วยงาน
๗.  สร้างทัศนคติที่ดีต่อบุคลากรในหน่วยงาน  เป็นการเสริมสร้างความสามัคคี และความรับผิดชอบร่วมกัน  ตามความรู้  ความสามารถ และศักยภาพของแต่ละบุคคลอย่างเต็มที่
๘.  สร้างความมั่นคงให้กับแผนงาน และสร้างความมั่นใจในการดำเนินงานให้กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ
๙.  สามารถควบคุมการทำงานได้สะดวก ไม่ซ้ำซ้อน เพราะงานได้แยกออกเป็นส่วน ๆ
ตามลักษณะเฉพาะของงาน
ส่วนประกอบของโครงการ
    ในการเขียนโครงการ  ผู้เขียนจำเป็นต้องเข้าใจส่วนประกอบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้การเขียนโครงการเป็นไปตามลำดับขั้นตอน มีเหตุผลน่าเชื่อถือ และการเขียนส่วนประกอบของโครงการ
ครบถ้วนช่วยให้การลงมือปฏิบัติตามโครงการเป็นไปโดยราบรื่น รวดเร็ว และสมบูรณ์ส่วนประกอบของโครงการ จำแนกได้ 3 ส่วน ดังต่อไปนี้
๑. ส่วนนำ หมายถึง  ส่วนที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ ส่วนนำของโครงการมุ่งตอบคำถามต่อไปนี้ คือโครงการนั้นคือโครงการอะไร เกี่ยวข้องกับใคร ใครเป็นผู้เสนอหรือดำเนินโครงการ โครงการนั้นมีความเป็นมาหรือความสำคัญอย่างไร  ทำไมจึงจัดโครงการนั้นขึ้นมา  และมีวัตถุประสงค์อย่างไรจะเห็นได้ว่า ความในส่วนนำต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะให้ผู้อ่าน  และผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจข้อมูลพื้นฐาน ก่อนจะอ่านรายละเอียดในโครงการต่อไป   ส่วนนำของโครงการประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
๑.๑  ชื่อโครงการ ( Project Title )
๑.๒  โครงการหลัก ( Main  Project )
๑.๓  แผนงาน ( Plan )
๑.๔  ผู้รับผิดชอบ หรือผู้ดำเนินโครงการ ( Project  Responsibility )

๑.๕  ลักษณะโครงการ ( Project Characteristic )
๑.๖  หลักการและเหตุผล (ความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ) (Reason  for Project Determination)
๑.๗  วัตถุประสงค์(Objectives)การเขียนส่วนนำของโครงการต้องทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ
 และเห็นความสำคัญของโครงการนั้น   พร้อมตัดสินใจว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจหรือไม่
หากผู้อ่านเป็นกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ต้องพิจารณาอนุมัติ  หรือให้การสนับสนุนก็อาจจะเกิดแนวคิดว่าจะให้ความช่วยเหลือโครงการนั้นแค่ไหน เพียงใด ก่อนที่จะอ่านรายละเอียดอื่น ๆ
ต่อไป  ดังนั้น ผู้เขียนโครงการต้องพิถีพิถันในการใช้ภาษาให้ถูกต้องชัดเจน รัดกุม และเหมาะสม โดยชี้แจงเหตุผลสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน

๒. ส่วนเนื้อความ  หมายถึง  ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ ได้แก่ วิธีดำเนินการซึ่งกล่าวถึงลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานรวมทั้งพื้นที่การปฏิบัติงาน ซึ่งครอบคลุมปริมาณ และคุณภาพ ตลอดจนการดำเนินงานตาม วัน เวลา และสถานที่ส่วนเนื้อความของโครงการประกอบด้วย หัวข้อต่อไปนี้
๒.๑  เป้าหมายของโครงการ (Goal)
๒.๒  ขั้นตอนการดำเนินงาน ( Work Procedure)
๒.๓  วัน   เวลา  และสถานที่ในการดำเนินงาน ( Duration and Place)
วิธีดำเนินการจัดเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ ผู้เขียนต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน วิธีดำเนินการควรแยกอธิบายเป็นข้อๆให้ชัดเจนตามลำดับขั้นตอนการทำงาน
อาจทำแผนผังสรุปวิธีดำเนินการตาม วัน เวลา เพื่อความชัดเจนด้วยก็ได้

                3. ส่วนขยายความ    หมายถึง  ส่วนประกอบที่ให้รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับโครงการได้แก่ ประโยชน์ หรือผลที่คาดว่าจะได้รับงบประมาณดำเนินการหรือแหล่งเงินทุนสนับสนุนตลอดจนการติดตามและประเมินผล ส่วนขยายเนื้อความของโครงการ ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
๓.๑  งบประมาณที่ใช ้( Budgets)
๓.๒  การประเมินโครงการ ( Project Evaluation )
๓.๓  ผลที่คาดว่าจะได้รับ ( Benefits)
ในส่วนขยายความ  อาจจะเพิ่มเติมผู้เสนอโครงการไว้ในตอนท้ายของโครงการ  ในกรณีที่เป็นโครงการที่ต้องเสนอผ่านตามลำดับขั้นตอนและผู้อนุมัติโครงการลงนามในตอนท้ายสุดของโครงการ

 ลำดับขั้นตอนการเขียนโครงการ
      ได้กล่าวส่วนประกอบของโครงการตามหัวข้อสำคัญ 3 ประการแล้ว  ในที่นี้ขออธิบายรายละเอียด ลำดับขั้นตอนของการเขียนโครงการ ดังต่อไปนี้
๑. ชื่อโครงการ  ซึ่งโครงการต้องมีความชัดเจน  รัดกุม และเฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดความเข้าใจง่ายแก่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้นำโครงการไปปฏิบัติชื่อโครงการจะบอกให้ทราบว่าจะทำสิ่งใด หรือเสนอขึ้น เพื่อทำอะไรโดยปกติชื่อโครงการจะแสดงลักษณะของงานที่ต้องปฏิบัติตัวอย่างเช่น

๑.๑ โครงการโครงการสร้างสื่อการสอน ชุดสาธิต ทดสอบ ปรับแต่ง ตรวจสอบเครื่องรับวิทยุ เครื่องขยายเสียง และระบบเสียง
๑.๒ โครงการโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนในสายงานโรงแรม
๑.๓ โครงการโครงการแข่งขันทักษะวิชาการด้านภาษาอังกฤษ(The  Battle  of  The  Brains)

 ๒. โครงการหลัก
ให้ศึกษาในแผนพัฒนาโรงเรียนว่าโครงการที่จัดทำสามารถอิงกับโครงการหลักใดในแผนพัฒนาโรงเรียน
๓. แผนงาน
ให้ศึกษาว่าโครงการที่ทำนั้นสอดคล้องกับแผนงานใดในแผนพัฒนาโรงเรียน   และสอดคล้องกับมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่เท่าใด ในมาตรฐานอาชีวศึกษา

๔.  ผู้รับผิดชอบโครงการ 
  เป็นการบอกให้ทราบว่า  กลุ่มบุคคลใด  หรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการเสนอ
และดำเนินงานตามโครงการ  ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การประสานงานและการตรวจสอบ
๕. ลักษณะโครงการ
เป็นโครงการใหม่ เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ......... หรือโครงการต่อเนื่อง
๖. หลักการและเหตุผล
   หรืออาจจะเรียกว่าความเป็นมา หรือภูมิหลังของโครงการหลักการและเหตุผล เป็นส่วนที่แสดงถึงปัญหาความจำเป็นหรือความจำเป็นที่ต้องจัดโครงการขึ้นโดยผู้เขียนหรือผู้เสนโครงการ
จะต้องระบุเกิดปัญหาอะไรกับใครที่ไหนเมื่อใด มีสาเหตุมาจากอะไรโดยมีข้อมูลสนับสนุนให้ปรากฏชัดเจนนอกจากนี้จะต้องบอกถึงความจำเป็นที่ต้องจัดทำโครงการว่า ถ้าไม่ทำจะเกิดผลเสียหายอย่างไร ถ้าทำคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาได้อย่างไรนอกจากนั้นยังอาจเพิ่มความสอดคล้องของโครงการกับแผนงานต่างๆหรือโครงการจะช่วยเอื้อให้แผนนั้นๆประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นอย่างไร และถ้าเคยมีรายงานการประเมินโครงการแล้วก็ควรนำมาเขียนเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการจัดทำโครงการด้วย การเขียนหลักการและเหตุผลไม่ควรยาวหรือสั้นเกินไป  โดยเฉพาะการเขียน วกไปวนมาจะทำให้เข้าใจยาก ซึ่งในปัจจุบันมักพบว่าเขียนค่อนข้างสั้นเกินไป  เพียงย่อหน้าเดียว 3-5 บรรทัด  ซึ่งทำให้ขาดข้อมูลสำคัญๆได้การเขียนหลักการและเหตุผลมักเขียนเป็นความเรียง ไม่นิยมเขียนเป็นข้อ ๆ
๗. วัตถุประสงค์   
ควรเขียนให้อยู่ในรูปการลดหรือขจัดปัญหาหรือพัฒนาสิ่งที่ต้องการเพิ่มขึ้นไม่จำเป็นต้องเขียน
วัตถุประสงค์หลายข้อเพราะจำนวนข้อของวัตถุประสงค์ไม่ได้แสดงถึงความมีคุณภาพของโครงการแต่อย่างใดบางครั้งเขียนเกินจริงซึ่งเมื่อประเมินโครงการก็ไม่มีทางสำเร็จได้
ฉะนั้นต้องระบุให้ชัดเจน รัดกุม และสามารถปฏิบัติได้จริงการเขียนวัตถุประสงค์ต้อง
ครอบคลุมเหตุผลที่จะทำโครงการโดยจัดลำดับแยกเป็นข้อ ๆ เพื่อความเข้าใจง่าย และชัดเจน
๘. เป้าหมาย
  เป้าหมายของโครงการเป็นการบอกถึงความต้องการหรือทิศทางในการปฏิบัติงานที่ระบุในเชิงปริมาณเชิงคุณภาพ  เวลาและพื้นที่ในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกิจกรรมของโครงการ
๙.  ขั้นตอนและระยะเวลา
   เป็นการกล่าวถึงลำดับขั้นตอนการทำงาน  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่กำหนดในโครงการวิธีดำเนินการมักจำแนกเป็นกิจกรรมย่อย ๆ โดยแสดงให้เห็นชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการว่ามีกิจกรรมใดที่ต้องทำ ทำเมื่อใด  ผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบและจะทำอย่างไรอาจจะจัดทำเป็นปฏิทินปฏิบัติงานประกอบรวมทั้งแสดงระยะเวลาดำเนินการควบคู่ไปด้วย
 ระยะเวลาในการดำเนินการ เป็นการระบุระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการโดยระบุเวลาที่ใช้เริ่มต้นตั้งแต่วัน เดือน ปี  และสิ้นสุดหรือแล้วเสร็จใน วัน เดือน ปีอะไร
๑๐. สถานที่ดำเนินการ
 คือสถานที่ บริเวณ พื้นที่ อาคาร ที่ใช้จัดกิจกรรมตามโครงการ
 ๑๑. งบประมาณ  หรือค่าใช้จ่ายการดำเนินงานตามโครงการต้องใช้งบประมาณหรือค่าใช้จ่ายที่ระบุถึงจำนวนเงิน  จำนวนวัสดุ  ครุภัณฑ์  หรือจำนวนบุคคล และปัจจัยอื่นที่จำเป็นต่อการดำเนินการ  สำหรับงบประมาณ ควรระบุให้ชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างเป็นข้อๆ๑๒. การประเมินผลโครงการ
   เป็นการประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการ ซึ่งต้องระบุวิธีการประเมินผลให้ชัดเจนว่าจะประเมินโดยวิธีใด  อาจเขียนเป็นข้อ ๆ หรือเขียนรวม ๆ กันก็ได้ เช่น จากการสังเกต จากการตอบแบบสอบถาม (ควรระบุว่าใครเป็นผู้ประเมิน)  เป็นต้น
๑๓. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เป็นการกล่าวถึงผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากความสำเร็จของโครงการ  เป็นการคาดคะเนผลที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติโครงการ  ซึ่งผลที่ได้รับต้องเป็นไปในทางที่ดี ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพนอกจากโครงการจะมีส่วนประกอบสำคัญ  13  ประการ  ตามที่กล่าวมาแล้วการเขียนโครงการอาจจะมีส่วนประกอบเพิ่มเติมอีกได้เช่นปัญหาและอุปสรรคข้อเสนอแนะผู้เขียนโครงการ ผู้อนุมัติโครงการ เป็นต้น
 
ลักษณะของโครงการที่ดี
โครงการเป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้น  เพื่อการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการที่ดีย่อมมีผลตอบแทนหน่วยงาน  หรือองค์การอย่างคุ้มค่า  ลักษณะของโครงการที่ดีมีดังต่อไปนี้
๑. สามารถแก้ปัญหาองค์กร  หรือหน่วยงานได้
๒. มีประสิทธิภาพ  และก่อให้เกิดผลตอบแทนคุ้มค่า
๓. รายละเอียดของโครงการต้องสอดคล้อง และสัมพันธ์กัน
๔. วัตถุประสงค์  และเป้าหมายต้องชัดเจน  และมีความเป็นได้สูง
๕. สามารถสนองความต้องการขององค์กร  และหน่วยงานได้อย่างดี
๖. สามารถนำไปปฏิบัติได้สอดคล้องกับแผนงาน
๗. กำหนดขึ้นจากข้อมูลที่มีความเป็นจริง   และได้รับการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ
๘. ต้องได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากร  หรือค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม
๙. ต้องมีระยะเวลาการดำเนินโครงการชัดเจน

ประเภทของโครงการ

      โครงการ  แบ่งออกได้หลายประเภทตามความต้องการ   และความเหมาะสม  ได้แก่
แบ่งตามระยะเวลา เช่นโครงการระยะสั้น โครงการระยะยาว หรือแบ่งตามความสำคัญ  เช่นโครงการหลักโครงการเสริมเป็นต้น แต่ที่นิยมกันโดยทั่วไปมักจะแบ่งประเภทของ
โครงการตามลักษณะของผู้เสนอโครงการ  ดังต่อไปนี้
๑.  โครงการที่เสนอโดยตัวบุคคล  หมายถึง  โครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ทั้งนี้อาจเป็นความคิดริเริ่มของตัวผู้เขียนโครงการเองหรือได้รับการมอบหมายจากผู้อื่น
ให้เป็นผู้เขียนโครงการก็ได้
๒. โครงการที่เสนอโดยกลุ่มบุคคล  หมายถึง โครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยบุคคลมากกว่า 2 คนขึ้นไป
ที่มีความเห็นพ้องต้องกันในวัตถุประสงค์  วิธีการ  และมีเจตนาที่จะทำงานร่วมกันซึ่งส่วนประกอบของโครงการจะต้องได้รับการอภิปรายจนเป็นที่พอใจของกลุ่มการเขียนโครงการโดยกลุ่มบุคคลมีผลดีเพราะนอกจากจะได้รับประสบการณ์จากการเขียนโครงการแล้ว  ยังได้มีการประชุม อภิปราย แสดงความคิดเห็น และการใช้เหตุผลพร้อมกับการเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ  ดังนั้น โครงการนำเสนอโดยกลุ่มบุคคลจึงมีความสมบูรณ์  และรัดกุมมากกว่าการเขียนโครงการโดยตัวบุคคล
๓. โครงการที่เสนอโดยหน่วยงาน หมายถึง โครงการที่อาจจะเริ่มโดยตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคลก็ได้ แต่เป็นโครงการที่ดำเนินการในนามของหน่วยงาน  ซึ่งหมายความว่าทุกคนในหน่วยงานนั้นจะต้องเห็นด้วย และร่วมกันรับผิดชอบ  โครงการที่เสนอโดยหน่วยงานจึงจัดเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องประสานงาน  และร่วมมือกันทุกฝ่าย นับว่าเป็นโครงการที่มีความสมบูรณ์มากกว่าโครงการประเภทอื่น
 การใช้ถ้อยคำ   สำนวนในการเขียนโครงการผู้เขียนโครงการต้องมีความรู้  ความเข้าใจในเรื่องการใช้ถ้อยคำ สำนวนภาษาเป็นอย่างดี เพราะโครงการจะบรรลุเป้าหมาย  หรือประสบผลสำเร็จขึ้นอยู่กับการใช้ถ้อยคำภาษาเป็นสำคัญ ถ้าใช้ถ้อยคำภาษาถูกต้องชัดเจน สละสลวย ย่อมสื่อความหมายได้ง่าย และรวดเร็วดังนั้นผู้เขียนโครงการจึงต้องรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. ใช้ภาษาให้ถูกต้อง คือ ใช้ให้ถูกต้องตรงตามความหมาย  และเขียนให้ถูกต้องตามอักษรวิธี
ทั้งตัวพยัญชนะ  สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด และการันต์
๒. ให้ภาษาให้กะทัดรัด  คือ ใช้ถ้อยคำกระชับ รัดกุม ไม่เยิ่นเย้อ  ยืดยาว
ประหยัดถ้อยคำ แต่ต้องได้ใจความสมบูรณ์
๓. ให้ภาษาให้ชัดเจน  คือ ใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงไปตรงมา หรือตรงตามตัวทำให้ผู้รับสารเข้าใจทันที   ไม่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ หรือกำกวม
๔. ใช้ภาษาให้เหมาะสม  คือใช้ภาษาให้เหมาะสมกับเนื้อความ หรือเหมาะสมกับกาลเทศะ
๕. ใช้ภาษาให้สุภาพ  คือใช้ภาษาเขียน เป็นภาษาที่มีแบบแผน  ไม่ใช้ภาษาพูดในการเขียนโครงการ



หน่วยการเรียนรู้ที่ ๙ การเขียนรายงาน

การเขียนรายงาน
การเขียนรายงานเป็นวิธีการเสนอผลการค้นคว้าอย่างมีระบบและเป็นแบบแผนเพื่อให้ผู้อื่น
ได้รับทราบผู้เขียนรายงานต้องรู้จักรูปแบบและวิธีการตลอดจนการเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสม
จึงจะสามารถเขียนรายงานได้ถูกต้องและสามารถสื่อสารได้ตรงตามจุดประสงค์
   พิจารณาหัวข้อ จุดเริ่มต้นในการเขียนก็คือ ชื่อเรื่องหรือหัวข้อการพิจารณาหัวข้อหรือชื่อเรื่องจะนำไปสู่การเขียนที่ดีเนื้อหาสอดคล้องกับชื่อเรื่องอย่างตรงเป้า หัวข้อเรื่องแต่ละหัวข้อ ต้องการเน้นที่แตกต่างกัน
การรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการเขียน
สิ่งที่จะช่วยได้มากในการเขียนคือการรวบรวมข้อมูลการเตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการเขียนเป็นงานที่ยากและกินเวลามากที่สุดในการเขียนรายงานแม้ว่าเราจะมีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่จะเขียนดีเพียงไรเราก็ยังต้องใช้ความคิดอย่างมากว่าเราจะจัดการกับหัวข้อนี้อย่างไรดี จะใส่เนื้อหาอะไรเข้าไปบ้างจะตัดอะไรออก ความคิดไหนที่ควรติดตาม ทฤษฏีไหนที่มีค่าควรแก่การพัฒนาขยายความเนื่องจากความยากลำบากอันนี้ จึงไม่เป็นการฉลาดที่เราจะพยายามคิด
ออกมาให้ได้ในขั้นรวบรวมข้อมูลนี้จะเป็นการดีกว่าถ้าเราจะใช้เวลาตรึกตรองเตรียมตัว
สัก  ๒-๓  ชั่วโมง แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้สักวันสองวันระหว่างนั้นสมองเราจะยังคงย้อนกลับมา
คิดถึงหัวข้อนี้อยู่ และเราอาจจะค่อย ๆ ได้ความคิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
การวางเค้าโครงเรื่อง
การวางเค้าโครงเรื่องขึ้นอยู่กับการรวบรวมข้อมูลของเราในระดับหนึ่งขณะที่เราอ่านข้อมูลเพื่อเตรียมตัวเขียนเราก็จะเริ่มมองเห็นเค้าโครงเรื่องพร้อมกันไปด้วยแต่เราควรอ่านข้อมูลจนเรารู้สึกว่าเราได้ข้อมูลที่ต้องการมากพอแล้วเสียก่อนถึงเริ่มลงมือเขียนเค้าโครงเรื่องอย่างจริงจังเค้าโครงเรื่องก็คล้าย ๆกับการวางหัวข้อย่อยของเรื่องแต่ละหัวข้อย่อยอาจจะมีประเด็นหนึ่งหรือสองประเด็นหัวข้อของเค้าโครงเรื่องไม่ควรมีอะไรมากไปกว่าการครอบคลุมประเด็นที่เราต้องการจะเขียน หลักการวางเค้าโครงเรื่องอันดับแรกคือ ควรจะเรียงลำดับกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล และสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างต่อเนื่องตามลำดับในการเรียงลำดับเรื่อง  เราควรคำนึงถึงความสนใจของผู้อ่านด้วยนักข่าวหนังสือพิมพ์มักคำนึงถึงความสนใจของผู้อ่านมากเสียจนกระทั่งเขามักจะเขียนความคิดสำคัญ ๆ ไว้ตั้งแต่ประโยคแรก ๆ ของข่าว อันเป็นการดึงความสนใจของนักอ่านในขั้นตอนการวางเค้าโครงเรื่องนี้เราจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกให้มากที่สุด
    หัวข้อที่เราใช้จะเป็นตัวกำหนดเนื้อหาเรื่องที่เราจะเขียน ครอบคลุมถึงรายละเอียดต่าง ๆศิลปะในการที่จะนำเสนอขึ้นอยู่กับกระบวนการเลือกนี้อยู่มากทีเดียวการที่จะวางเค้าโครงเรื่องให้เสร็จ
ก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกันเป็นการดีที่จะร่างเค้าโครงเรื่องไว้แล้วปล่อยทิ้งไว้สักวันสองวัก่อนที่จะกลับมาเขียนต่อพร้อมกับความคิดใหม่ ๆ ถึงขั้นนี้เราก็สามารถเขียนเค้าโครงเรื่องครั้งสุดท้ายได้ซึ่งเมื่อเริ่มเขียนจริง ๆ แล้วเราก็อาจเพียงแต่ปรับปรุงแก้ไขเท่าที่จำเป็น
การเขียน
เวลาเราเขียนเรามักกังวลเกี่ยวกับท่วงทำนองการเขียน (Style)  ท่วงทำนองการเขียนที่ดีคือ
การเขียนสิ่งที่เราต้องการบอกกล่าวอย่างชัดเจนและกระชับหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่โอ่อ่า
เล่นสำบัดสำนวนประโยคที่ยาวหรือสลับซับซ้อนเกิดความจำเป็นสำนวนที่เป็นภาษาพูดแบบขาด ๆ วิ่น ๆ หรือแบบตลาด ๆ การที่เราจะปรับปรุงท่วงทำนองการเขียนของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับการอ่านตำราการเขียนหรือการทำแบบฝึกหัดมากนักที่สำคัญขึ้นอยู่กับการอ่านหนังสืออย่างกว้างขวางเวลาอ่านหนังสือให้คอยสังเกตว่าผู้เขียนสามารถเขียนด้วยถ้อยคำสำนวนเหตุผลที่น่าเชื่อถือเพียงใดโดยทั่วไปแล้วท่วงทำนองที่เรียบง่ายเป็นกุญแจไปสู่ความชัดเจนแต่ในการเขียนบทความทางวิชาการสังคมศาสตร์บางครั้งการใช้สำนวนที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อให้สื่อความหมายได้กระชับอาจเป็นสิ่งจำเป็น
 ย่อหน้า การเขียนที่ดีต้องมีย่อหน้าไม่ใช่เขียนติดกันไปทั้งหน้ากระดาษโดยไม่มีย่อหน้า
โดยทั่วไปแล้วย่อหน้าแต่ละย่อหน้าจะมีความคิดหรือการบอกเล่าเรื่องราวเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งเราเรียงลำดับย่อหน้าเพื่อให้เนื้อความต่อเนื่องกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลทำนองเดียวกับเราเรียงลำดับเค้าโครงเรื่องถ้าเรากลับไปอ่านต้นฉบับที่เราเขียน
และไม่เข้าใจว่าบางย่อหน้าเสนอแนวคิดหรือบอกเล่าอะไรเราอาจจะขีดฆ่าย่อหน้านั้นทิ้งทั้งย่อหน้าก็ได้เพราะถ้าหากเราเองยังไม่เข้าใจว่า ย่อหน้านั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับย่อหน้าอื่นอย่างไรแล้วคนอื่นที่จะมาอ่านเรื่องของเรายิ่งไม่มีทางเข้าใจใหญ่การแบ่งย่อหน้าโดยทั่วไปแล้วขึ้นอยู่กับท่วงทำนองการเขียนและจุดมุ่งหมายของผู้เขียนแต่ละคนตัวอย่างเช่นบทความขนาดสั้นที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวันผู้เขียนต้องการเขียนย่อหน้าสั้น ๆ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านข้อความแต่ละย่อหน้าได้รวดเร็วหรือบางครั้งผู้เขียนก็จงใจย่อหน้าใหม่เพื่อที่จะเน้นข้อความบางตอนทำให้บทความลักษณะนี้มีการแบ่งย่อหน้าสั้นๆ จำนวนมาก
ตารางและภาพประกอบ
ตารางหรือภาพประกอบสามารถช่วยอธิบายเรื่องได้ดีขึ้นตัวอย่างการเขียนบทความด้านสังคมศาสตร์อาจต้องการใช้สถิติที่เป็นตารางเป็นกราฟหรือเป็นรูปแท่งแผนที่บทความที่เกี่ยวกับเคมีต้องการใช้สูตรสมการรูปภาพเครื่องมือ เป็นต้น
อ่านทบทวน
         ขึ้นสุดท้ายของการเขียนก็คืออ่านทบทวนสิ่งที่เราเขียนนั้นพิจารณาดูว่ามีข้อความที่เขียนวกไปวนมาโดยไม่จำเป็นหรือไม่การเรียงลำดับเรื่องมีจุดอ่อนหรือไม่ลืมกล่าวหรือข้ามอะไรไปบ้างหรือไม่ การทิ้งสิ่งที่เราเขียนไว้สักพักหรือวันสองวันแล้วมาอ่านทวนเหมือนกับว่าเราอ่านเรื่องของคนอื่นจะทำให้เรามองเห็นจุดที่ควรแก้ไขได้ดีขึ้น
 ตรวจสอบ
๑) ฝึกการพิจารณาหัวข้อ เพื่อดูหัวข้อแต่ละหัวข้อต้องการอะไร
๒) ฝึกการเขียนเค้าโครงเรื่อง
๓) ได้ข้อสรุปของเราเองว่าท่วงทำนองในการเขียนที่ดีความจะเป็นอย่างไร
๔) ฝึกหัดการแบ่งย่อหน้า
๕) พิจารณาถึงการใช้แผนภูมิหรือภาพที่เหมาะสมกับเรื่องแต่ละเรื่อง

รูปแบบรายงาน
รายงานทางวิชาการประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
๑. ส่วนประกอบตอนต้นหรือส่วนนอก
๑.๑ ปกนอก  บอกชื่อเรื่อง ชื่อผู้ทำรายงาน ชื่อรายวิชา ชั้นเรียน โรงเรียน  ภาคเรียน ปีการศึกษา
๑.๒ ใบรองปก   เป็นกระดาษเปล่า     แผ่น
๑.๓ ปกใน   มีข้อความเช่นเดียวกับปกนอก
๑.๔ คำนำ   เป็นข้อความเกริ่นทั่วไปเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาของรายงานแจ่มแจ้งขึ้น 
๑.๕ สารบัญ   เป็นการเรียงลำดับหัวข้อของเนื้อเรื่อง   ถ้าเป็นเรื่องยาว   บอกเลขหน้าของหัวข้อไว้
๒. ส่วนเนื้อเรื่อง
๒.๑ บทนำ บอกเหตุผลและความมุ่งหมายที่ทำรายงาน ขอบเขตวิธีการศึกษาข้อมูล
๒.๒ เนื้อหา เป็นเรื่องยาว แบ่งออกเป็นบทๆ  รายงานสั้นๆ ไม่ต้องแบ่งเป็นบท
๒.๓ สรุป  เป็นตอนสรุป  ผลการศึกษาค้นคว้าและเสนอแนะประเด็นที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป
๓. ส่วนประกอบตอนท้าย
๓.๑ ภาคผนวก   เป็นข้อมูลที่มิใช่เนื้อหาโดยตรง
๓.๒ บรรณานุกรม  คือ ราชชื่อหนังสือ เอกสารหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ใช้ในการทำงาน 
โดยเรียงลำดับตามพยัญชนะตัวแรกของชื่อผู้แต่งหรือแหล่งข้อมูล  ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์ 
จังหวัดหรือเมืองที่พิมพ์ สำนักพิมพ์และปีที่พิมพ์ ถ้ามีข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
ให้ขึ้นต้นด้วยข้อมูลที่เป็นภาษาไทยก่อน





หน่วยการเรียนรู้ที่ ๘ การเขียนโฆษณา

ความหมายของการโฆษณา
การโฆษณา (advertising)เป็นการเสนอข่าวสารการขายหรือแจ้งข่าวสารให้บุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทราบเกี่ยวกับสินค้า บริการ หรือแนวความคิด โดยเจ้าของหรือผู้อุปถัมภ์เปิดเผยตนเอง มีการจ่ายเงินเพื่อการใช้สื่อ และเป็นการเสนอข้อมูลที่มิใช่เป็นการส่งบุคคลเข้าไปติดต่อโดยตรง
 หน้าที่ของการโฆษณา
จุดมุ่งหมายหลักของการโฆษณา ก็คือ การขายสินค้า แต่จุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นฉับพลันก็คือ การติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่แอบแฝงด้วย หน้าที่ที่สำคัญของการโฆษณามีหลายประการ คือ
๑. เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ (Creating Awareness)
๒. เพื่อสร้างสรรค์ภาพพจน์ที่ดี (Creating a Favorable Image)
๓. เพื่อชักจูงใจกลุ่มเป้าหมาย
๔. เพื่อกระตุ้นแหล่งที่จะนำสินค้าไปจำหน่าย (Outlets)
๕.  เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า
๖.  เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่บริษัทผู้ผลิต
๗.  ให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน
วัตถุประสงค์ของการโฆษณา
- เพื่อแนะนำสินค้าใหม่
- เพื่อขจัดความรู้สึกที่ไม่ดีหรือป้องกันมิให้ลูกค้าไปซื้อสินค้ายี่ห้ออื่นแทน
- เพื่อเพิ่มยอดขายของกิจการให้มากขึ้น- เพื่อเพิ่มยอดขายของสินค้า
- เพื่อเข้าไปในตลาดใหม่หรือจูงใจลูกค้ารายใหม่ ๆ
- เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้จำหน่ายต่าง ๆ
- เพื่อให้เข้าถึงบุคคลที่พนักงานขายไม่สามารถเข้าถึงได้
- เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดี หรือชื่อเสียงของกิจการ
- เพื่อสนับสนุนการขายโดยพนักงานขาย
ประเภทของการโฆษณา
การโฆษณาระดับชาติ National Advertising 
       เป็นการโฆษณาที่เหมาะสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายแพร่หลายทั่วไปทั้งประเทศ หรือรวมไปถึงต่างประเทศด้วยการใช้สื่อควรเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมอาณาเขตกว้างไกลทั่วไปทั่วประเทศ เช่น หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่วางจำหน่ายทั่วประเทศ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ที่มีกำลังส่งสูง รับได้ทั่วประเทศหรือถ่ายทอดในระบบเครือข่าย(Network)ไปทั่วประเทศการใช้สื่อโฆษณาระดับชาติจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าสื่อโฆษณาระดับท้องถิ่นมากแต่ให้ผลคุ้มค่าเมื่อเทียบอัตราเฉลี่ยระหว่างค่าโฆษณากับจำนวนประชาชนที่รับทราบข่าวสารการโฆษณานั้น  
การโฆษณาการค้าปลีก Retail Advertising หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการโฆษณารับท้องถิ่น (Local Advertising) เป็นการโฆษณาที่เหมาะสำหรับสินค้าหรือบริการที่มีขอบเขตการจำหน่ายอยู่แต่ละท้องถิ่น เช่นห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อู่ซ่อมรถยนต์ ฯลฯ ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้สื่อโฆษณาระดับท้องถิ่น เช่นการโฆษณาทางไปรษณีย์ การทำป้ายโฆษณากลางแจ้งขนาดใหญ่ (Cut-Out) โปสเตอร์(Poster) หรือ ใบปิดใบปลิว ใบโฆษณาพับ จดหมายขาย วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์(เคเบิ้ลท้องถิ่น) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
การโฆษณาสินค้าที่ใช้ในแวดวงอุตสาหกรรม Industrial Advertising
      เป็นการโฆษณาสินค้าของผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายโฆษณาไปยังผู้ค้าปลีกหรือผู้ค้าส่งทั่วไปเพื่อให้รับซื้อสินค้าไว้จำหน่ายให้กับผู้บริโภคอีกต่อหนึ่งสื่อที่นิยมใช้ ได้แก่ การส่งจดหมายโดยตรงใบโฆษณาพับ แคตตาล็อก (catalogs) เอกสารแนะนำประกอบ (Brochure)การจัดนิทรรศการแนะนำสินค้า
การโฆษณาการค้า Trade Advertising
      เป็นการโฆษณาสินค้าของผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย โฆษณาไปยังผู้ค้าปลีกหรือผู้ค้าส่งทั่วไปเพื่อให้รับซื้อสินค้าไว้จำหน่ายให้กับผู้บริโภคอีกต่อหนึ่งสื่อที่นิยมใช้ ได้แก่ การส่งจดหมายโดยตรงใบโฆษณาพับ แคตตาล็อก (catalogs)เอกสารแนะนำประกอบ (Brochure)
การจัดนิทรรศการแนะนำสินค้า เป็นต้น
การโฆษณาในงานอาชีพ  Professional Advertising

     เป็นการโฆษณาที่ผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย โฆษณาให้แก่บุคคลผู้มีอาชีพต่าง ๆได้ซื้อสินค้าเอาไว้ใช้ในการประกอบอาชีพหรือให้ผู้ที่มีอาชีพเหล่านั้นแนะนำให้ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องได้ซื้อสินค้าไว้ใช้เพราะผู้มีอาชีพต่าง ๆ มักจะได้รับการยอมรับและเชื่อถือของบุคคลทั่วไปมาก เช่น แพทย์ วิศวกรเกษตรกร กุ๊ก ดารา นักร้อง-นักแสดง นักกีฬา นักออกแบบเสื้อผ้า ช่างผมคนดัง ฯลฯ
การโฆษณาสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์ Mail - Order Advertising เป็นการโฆษณาพร้อมทั้งชายสินค้าไปในตัว โดยที่ผู้ซื้อและผู้ขายไม่จำเป็นต้องพบกัน เพียงแต่ใช้บริการไปรษณีย์เท่านั้นเหมาะสำหรับสื่อโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์ เช่น จุลสาร (booklet) ใบโฆษณาพับและที่นิยมใช้กันมากคือนิตยสารโดยการพิมพ์รูปภาพของสินค้าพร้อมทั้งแบบฟอร์มสั่งซื้อไว้ให้ผู้สนใจกรอกแบบฟอร์มสั่งซื้อซึ่งผู้ขายจะส่งสินค้าไปให้โดยวิธีเก็บเงินปลายทางวิธีนี้ให้ความสะดวกเหมาะสำหรับผู้ไม่มีเวลาไปหาซื้อสินค้าด้วยต้นเองแต่มีปัญหาว่าการไม่ได้ไปดูสินค้าด้วยตนเองนั้น เมื่อสั่งซื้อสินค้ามาแล้วอาจจะได้ของที่ไม่ถูกใจก็ได้

การโฆษณาที่ไม่เกี่ยวกับสินค้า Non Product  Advertising
    ได้แก่การโฆษณาที่ไม่เกี่ยวกับสินค้า (Non-Product or Idea Advertising) ได้แก่ การโฆษณาสถาบันพรรคการเมือง หรือองค์กรต่าง ๆ รวมถึงบริษัท ห้างร้านที่มิได้เน้นการจำหน่ายสินค้า
หรือบริการแต่เพื่อต้องการสร้างชื่อเสียงเพื่อเผยแพร่ข่าวสารกิจการต่าง ๆ หรือเพื่อเผยแพร่แนวความคิดต่าง ๆให้ได้รับความยอมรับ เชื่อถือ หรือร่วมมือตามที่ผู้โฆษณาต้องการ อันเป็นการโฆษณาในลักษณะของประชาสัมพันธ์    


หน่วยการเรียนรู้ที่ ๗ การเขียนเพื่อประชาสัมพันธ์

ความหมายของการประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ (Public Relations (PR) หมายถึง การติดต่อสื่อสารขององค์การกับกลุ่มที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์การ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้ถือหุ้น หรือลูกค้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทัศนคติ ความเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์การหรือผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเป็นการให้ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือแก้ไขข้อผิดพลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความสำคัญของการประชาสัมพันธ์
ปัจจุบันเป็นยุคของการแข่งขันทั้งหน่วยรัฐบาลและเอกชนต่างพัฒนาบทบาทของตนเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายยอมรับการประชาสัมพันธ์จึงมีความสำคัญ เพราะประชาชนและหน่วยงานอื่น จะทราบนโยบายและความก้าวหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับ การให้ความเชื่อมั่นอันจะนำมาความเข้าใจความสำเร็จของหน่วยงานนั้นๆต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจ และความรู้สึกที่ดีต่อกัน
จุดมุ่งหมายของการประชาสัมพันธ์
๑. การเขียนเพื่อบอกกล่าวให้เข้าใจเพื่อให้ได้รับรู้ว่าองค์กรทำอะไร ทำอย่างไร เมื่อใด เพื่ออะไร
เพราะอะไร
๒.การเขียนเพื่อให้ประชาชนยอมรับเป็นการเขียนโน้มน้าวใจชักจูงให้ประชาชนคล้อยตามยกส่วนดีให้เห็นชัดเจน
๓. การเขียนเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด
๔. การเขียนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
๕. การแก้ไขเพื่อความเข้าใจผิด
๖. การเขียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี
๗. การเขียนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด
ประเภทของการประชาสัมพันธ์แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
๑. การประชาสัมพันธ์ภายใน เป็นการเผยแพร่ข่าวสาร เพื่อสร้างความสามัคคี ความรู้สึกที่ดีต่อกัน อาจเป็นการชี้แจงความเข้าใจ การแก้ไขปัญหาภายในหน่วยงาน เพื่อให้สมาชิกเกิดกำลังใจ
๒. การประชาสัมพันธ์ภายนอก มุ่งเน้นเผยแพร่นโยบายข่าวสารต่างๆ กลุ่มเป้าหมายนอกองค์กรเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
๓. การประชาสัมพันธ์ภายในและภายนอกเป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน
ได้ประโยชน์ครอบคลุมถึงกลุ่มเป้าหมายภายในและภายนอก

หลักการเขียนประชาสัมพันธ์
 ๑. กำหนดจุดมุ่งหมายในการประชาสัมพันธ์แต่ละครั้ง ซึ่งย่อมแตกต่างกัน
บางโอกาสต้องการสร้างความเข้าใจที่ดี บางโอกาสต้องการเผยแพร่ผลงาน
และการเขียนย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นนอน
๒. ศึกษารายละเอียด ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงานที่จะประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจ
๓. สำรวจงบประมาณ และกลุ่มเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ ว่ามีงบประมาณเท่าไหร่

กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร
๔. เลือกสื่อและรูปแบบในการประชาสัมพันธ์ ควรเลือกสื่อชนิดใด
๕. เรียบเรียงข้อความ โดยคำนึงถึงความถูกต้องของเนื้อหาและการใช้สำนวนภาษ
๖. ตรวจสอบ โดยอ่านทบทวนอีกครั้ง
การใช้ภาษาในการประชาสัมพันธ์
 การใช้ภาษาในการเขียนข้อความประชาสัมพันธ์ ควรใช้สำนวนภาษาแบบแผน หรือ กึ่งแบบแผน ควรมีความประณีต สลัสลวย เนื่องจากการเขียนประชาสัมพันธ์ มีจุดมุ่งหมายในการสร้างภาพลักษณ์ ความเข้าใจที่ดี การใช้ภาษาจึงควรมีความสุภาพ ไม่ใช้ศัพท์สแลงในบางโอกาส อาจจำเป็นต้องใช้สำนวนภาษาที่กระตุ้นความสนใจ ทำให้กระตือรือร้น จึงควรใช้ภาษาให้มีน้ำหนักจริงจัง กระชับ รัดกุมแต่ไม่ห้วนจนขาดความสุภาพและสื่อที่ใช้ประชาสัมพันธ์ด้วย
การประชาสัมพันธ์ทางธุรกิจ
ใช้หลักการเขียนเดียวกับการประชาสัมพันธ์โดยทั่วไปแต่ต้องระมัดระวังการแอบแฝงการโฆษณาเป็นพิเศษ เพราะผิดหลักการเขียนโฆษณาโดยทั่วไป แม้ไม่ใช่การโฆษณา แต่องค์กรทางธุรกิจ มักจะมีตราสัญญลักษณ์ขององค์กรของตนปรากฎอยู่ในเอกสารการประชาสัมพันธ์

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๖ การเขียนจดหมายที่จำเป็นต่องานอาชีพ

ความสำคัญของจดหมาย
จดหมาย คือข้อความที่เขียนขึ้นเพื่อส่งสารจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่ง อาจมีความหมายรวมไปถึงกระดาษหรือสื่อที่ใช้เขียนหรือสร้างจดหมายนั้นจดหมายธุรกิจถือเป็นการสื่อสารธุรกิจรูปแบบหนึ่งเป็นจดหมายที่ใช้ติดต่อระหว่างกันในวงธุรกิจโดยมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ เช่นเสนอขายสินค้าหรือบริการ สั่งซื้อ สินค้าและตอบรับการสั่งซื้อ ติดตามหนี้ ร้องเรียนเกี่ยวกับข้อผิดพลาดหรือความเสียหาย เป็นต้น จดหมายธุรกิจมีความแตกต่างจากจดหมายส่วนตัวบ้างในด้านรูปแบบและการใช้ถ้อยคำภาษา กล่าวคือจดหมายธุรกิจส่วนใหญ่มีรูปแบบและการใช้ภาษาเป็นทางการหรือค่อนข้างเป็นทางการ
ไม่ใช้ภาษาปากหรือภาษาพูดดังที่มักปรากฏในจดหมายส่วนตัว
 หลักเกณฑ์และการใช้สำนวนภาษาในการเขียนจดหมาย
ผู้เขียนคงเคยเขียนจดหมายหรืออ่านจดหมายมาบ้างแล้ว คงจะสังเกตเห็นว่าจดหมาย
นั้นไม่ว่าประเภทใด จะต้องประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
      ๑. ที่อยู่ของผู้เขียน เริ่มกึ่งกลางหน้าระหว่างเส้นคั่นหน้ากับริมของขอบกระดาษ
      ๒. วัน เดือน ปี ที่เขียนจดหมาย ให้เยื้องมาทางซ้ายของตำแหน่งที่เขียนที่อยู่เล็กน้อย
      ๓. คำขึ้นต้น ห่างจากขอบกระดาษด้านซ้าย ๑ นิ้ว
      ๔. เนื้อหา ขึ้นอยู่กับย่อหน้าตามปกติ อาจจะอยู่ห่างจากขอบกระดาษด้านซ้าย ๒ นิ้ว
      ๕. คำลงท้ายอยู่แนวเดียวกับที่อยู่ของผู้เขียน
      ๖. ชื่อผู้เขียน อยู่ใต้คำลงท้าย ล้ำเข้าไปเล็กน้อย
 ข้อควรคำนึงในการเขียนจดหมาย
1.เขียนถึงใครเพื่อจะเลือกใช้คำขึ้นต้นคำลงท้ายตลอดจนถ้อยคำสำนวนให้เหมาะสมกับผู้รับจดหมาย 2.เขียนเรื่องใดบ้างเพื่อจะได้สื่อสารกันให้ตรงประเด็นและได้สาระครบถ้วนตามต้องการในส่วนนี้ผู้เขียนต้องคิดให้รอบคอบและแน่นอน ก่อนว่าจะเขียนเรื่องใดบ้าง และต้องหาข้อมูลให้ถูกต้องชัดเจนหากเป็นจำนวน วัน เวลา สถานที่ และเงื่อนไขต่าง ๆ ควรตรวจสอบให้แน่ชัด เพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง
3.เขียนทำไมเพื่อจะได้ระบุวัตถุประสงค์ลงไปให้ชัดเจนแน่นอนเช่นเพื่อขอความร่วมมือเพื่อแจ้งให้ทราบ เพื่อให้พิจารณา เป็นต้นผู้รับจดหมายจะได้ไม่ลังเลสงสัยว่าผู้เขียนต้องการอะไรแน่
4. เขียนอย่างไร เพื่อจะได้กำหนดรูปแบบของจดหมายเสียก่อนว่าควรใช้ลักษณะอย่างไร ควรมีเนื้อความกี่ตอนเนื้อความแต่ละตอนควรกล่าวถึงอะไรบ้างและควรเลือกสรรถ้อยคำ
อย่างไรจึงจะเหมาะสม
การใช้สรรพนามขึ้นต้อนลงท้ายจดหมายและจ่าหน้าซอง
ในการเขียนจดหมายต้องคำนึงถึงการเขียนคำขึ้นต้น คำลงท้ายและสรรพนามให้ถูกต้องดังนี้
ผู้รับ คุณพ่อ,คุณเเม่
คำขึ้นต้น กราบเท้า...ที่เคารพอย่างสูง
สรรพนาม (ผู้เขียน) ลูก, หนู, ผม, กระผม, ดิฉัน หรือใช้ชื่อเล่นเเทน
สรรพนาม (ผู้รับ) คุณพ่อ คุณเเม่
คำลงท้าย ด้วยความเคารพรักอย่างสูง
ผู้รับ ญาติผู้ใหญ่
คำขึ้นต้น กราบเท้า....ที่เคารพอย่างสูง หรือ กราบเรียน...ที่เคารพอย่างสูง
สรรพนาม (ผู้เขียน) หลาน, ผม, กระผม, ดิฉัน, หนู, หรือใช้ชื่อเล่นแทน
สรรพนาม (ผู้รับ) คุณปู่, คุณย่า, คุณตา, คุณยาย, คุณลุง, คุณป้า, คุณน้า, คุณอา
คำลงท้าย ด้วยความเคารพอย่างสูง
ผู้รับ พี่หรือเพื่อนที่อาวุโสกว่า
คำขึ้นต้น เรียนคุณพี่ที่เคารพ หรือ กราบ...ที่เคารพ
สรรพนาม (ผู้เขียน) น้อง, ผม, ดิฉัน, หนู, หรืออาจใช้ชื่อเล่นเเทน
สรรพนาม (ผู้รับ) คุณพี่, คุณ ...
คำลงท้าย ด้วยความเคารพ, ด้วยความเคารพรัก
ผู้รับ น้อง หรือเพื่อน
คำขึ้นต้น ...น้องรัก หรือ คุณ ... ที่รัก หรือ (ชื่อเล่น) ที่รัก
สรรพนาม (ผู้เขียน) ฉัน พี่
สรรพนาม (ผู้รับ) เธอ, คุณ, น้อง
คำลงท้าย ด้วยความรัก, ด้วยความรักยิ่ง, รักเเละคิดถึง
ผู้รับ บุคคลทั่วไป
คำขึ้นต้น เรียนคุณ...ที่นับถือ หรือ เรียนผู้จัดการบริษัท ... จำกัด
สรรพนาม (ผู้เขียน) ผม, ดิฉัน
สรรพนาม ผู้รับ) คุณ, ท่าน
คำลงท้าย ของเเสดงความนับถือ

ผู้รับ พระภิกษุทั่วไป
คำขึ้นต้น นมัสการ...
สรรพนาม (ผู้เขียน) ผม,กระผม, ดิฉัน
สรรพนาม (ผู้รับ) ท่าน, พระคุณท่าน, ใต้เท้า, พระคุณเจ้า
คำลงท้าย ขอนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕ การพูดในงานสังคม

การพูดหมายถึงการติดต่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์โดยใช้เสียงภาษา,แววตา,สีหน้า,ท่าทางต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากผู้พูดไปยังฟังให้เป็นที่เข้าใจ
งานสังคมคืองานเพื่อการพบปะสังสรรค์หรือทำกิจกรรมร่วมกันของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ กันโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญร่วมกัน
ดังนั้นความหมายของการพูดในงานสังคมจึงมีความหมายว่าการติดต่อสื่อสารกันที่เกี่ยวข้องกับงานการ พบปะสังสรรค์หรือร่วมชุมนุมกันของกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง
ความสำคัญของการพูดในงานสังคม
                ในการเข้าสังคมนอกจากจะมีการติดต่อสื่อสารกันแล้วยังต้องมีกิจกรรมต่างๆที่กระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ที่กลุ่มคนนั้นๆได้ตั้งเป้าหมายไว้ฉะนั้นการพูดจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มชนเป็น ในทางที่ดีและดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ตรงตามวัตถุประสงค์ความสำคัญของการพูดในงานสังคมพอจะสรุปได้โดย สังเขปดังนี้
๑.สร้างบรรยายกาศในการดำเนินกิจกรรม
๒.กระชับความสัมพันธ์ภายในหมู่คณะ
๓.สร้างความมั่นคงให้กับองค์กร
มายาทของการพูดในงานสังคม
              โดยทั่วไปแล้วการพูดไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดผู้พูดก็ควรยึดหลักในการคำนึงถึงมารยาทในการพูดเพราะเหตุ ที่ว่ายิ่งผู้พูดมีมารยาทในการพูดมากเท่าใดก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้พูดสนใจและให้เกียรติผู้ฟังมากขึ้นเท่านั้น มารยาทของการพูดในงานสังคมมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
๑.มารยาทในการแต่งกาย
๒.มารยาทในการใช้ภาษา
๓.มารยาทในการแสดงออก
๔.มารยาทในการทักทายผู้ฟัง
 ประเภทของการพูดในงานสังคม
                 ในปัจจุบันกิจกรรมต่างๆที่กลุ่มคนในสังคมจัดขึ้นมีมากมายเช่นงานเลี้ยงเพื่อแสดงความยินดีในวันเกิด,วันมงคลสมรส งานเลี้ยงต้อนรับ,งานเปิดกิจการห้างร้านใหม่นอกจากนี้ยังมีงานที่จัดขึ้นเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการใดวงการหนึ่ง เช่นงานแสดงนิทรรศการต่างๆงานที่เกี่ยวกับกิจกรรมวันสำคัญๆงานชุมนุมพบปะสังสรรค์เป็นต้นการพูดจึงมีส่วน สำคัญที่จะช่วยให้งานหรือกิจกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นประสบผลสำเร็จบรรลุจุดมุ่งหมายได้การพูดในงานสังคมนั้น สามารถจัดประเภทได้ ดังนี้
๑.พูดแสดงความยินดี
๒.พูดแสดงความอาลัย
๓.พูดแสดงความขอบคุณ
๔.พูดในโอกาสพิเศษ
๕.พูดเพื่อให้เกียรติ
 การพูดแสดงความยินดี
                 การพูดเพื่อแสดงความยินดีมักนำไปใช้กับงานหรือเรื่องที่น่ายินดีต่างๆเช่นในงานมงคล,งานวันเกิด,งานขึ้นบ้านใหม่ การกล่าวอวยพรเป็นการพูดที่ผู้พูดมักใช้ถ้อยคำที่ไพเราะเสนาะหูเพื่อสร้างความประทับใจและมักจะมีคำอวยพร เพื่อมอบความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ฟังหรือผู้เป็นเจ้าของงานการพูดเพื่อแสดงความยินดีมักใช้โอกาสต่อไปนี้
๑.กล่าวอวยพรวันเกิด
๒.กล่าวอวยพรวันมงคลสมรส
๓.กล่าวอวยพรในงานขึ้นบ้านใหม่หรือเปิดกิจการใหม่
๔.กล่าวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
๕.กล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่
๖.กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสได้รับรางวัลหรือเกียรติยศ
การพูดเพื่อแสดงความอาลัย
               การพูดเพื่อแสดงความอาลัยมักนำไปใช้กับงานที่เกี่ยวกับการสูญเสียหรือเกิดการพลักพรากจากกันไปเนื่องจาก ย้ายสถานที่ทำงานย้ายไปรับตำแหน่งใหม่การกล่าวหรือพูดกันในงานเหล่านี้มักจะใช้เรียกกันว่าการกล่าวอำลา เป็นการพูดที่ผู้พูดมักใช้คำพูดแสดงความอาลัยรักสถานที่หรือผู้ที่เคยใกล้ชิดเคยร่วมงานกันมาก่อนและมีเหตุอันทำ ให้ต้องจากสถานที่หรือบุคคลที่เคยอยู่ร่วมกันหรือเคยร่วมงานกันมาก่อนการใช้ถ้อยคำและการแสดงความรู้สึกของ ผู้พูดย่อมแตกต่างกันกับการพูดแสดงความยินดีการพูดเพื่อแสดงความอาลัยมักใช้ในโอกาสต่อไปนี้
๑.กล่าวไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์
๒.กล่าวในพิธีอำลาเนื่องในโอกาสย้ายไปรับตำแหน่งใหม่
๓.กล่าวในพิธีอำลาในโอกาสที่มีการย้ายสถานที่ทำงาน
๔.กล่าวในงานพิธีเกษียณอายุราขการ
๕.กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ
การพูดแสดงความขอบคุณ
              การพูดเพื่อแสดงความขอบคุณนับเป็นการแสดงมารยาททางสังคมอย่างหนึ่งใช้ในกรณีที่ต้องการจะแสดงความขอบคุณ เพื่อตอบแทนไมตรีจิตของผู้ที่มาร่วมงานหรือต้องการจะแสดงความขอบคุณผู้ที่ทำคุณประโยชน์ด้านต่างๆให้หรือ ขอบคุณผู้ที่มอบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เพื่อเป็นรางวัลการพูดแสดงความขอบคุณมักใช้ในโอกาสต่อไปนี้
๑.กล่าวตอบขอบคุณคำอวยพร
๒.กล่าวขอบคุณแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน
๓.กล่าวขอบคุณในงานเลี้ยง
๔.กล่าวขอบคุณในงานเลี้ยงอำลา
๕.กล่าวตอบขอบคุณในงานรับมอบสิ่งของ
การพูดในโอกาสพิเศษ
                  การพูดในโอกาสพิเศษเป็นการพูดที่สร้างความจรรโลงให้แก่ผู้ฟังผู้พูดจะต้องอาศัยและทักษะและความ สามารถทางภาษาเป็นพิเศษเป็นการพูดทีทมีการร่างถ้อยคำที่ใช้สำหรับพูดไว้ผู้พูดมักจะแสดงให้เห็นความน่า ชื่นชมของความคิดการกระทำหรือเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยถ้อยคำที่สละสลวยไพเราะ,น่าฟังหากผู้พูดสามารถ ยกอุทาหรณ์หรือเหตุผลต่างๆได้ลึกซึ่งน่าฟังก็จะยิ่งทำให้ผู้ฟังคิดตามเรื่องที่พูดอย่างตั้งอกตั้งใจจึงทำให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ในการฟังการพูดที่มักใช้ในโอกาสพิเศษมีดังนี้
๑.การกล่าวสุนทรพจน์
๒.การกล่าวคำปราศรัย
๓.การกล่าวให้โอวาท
๔.การกล่าวมอบสิ่งของ
๕.การกล่าวรายงานการจัดงาน
๖.การกล่าวเปิดงาน
การพูดเพื่อให้เกียรติ
                  การพูดเพื่อให้เกียรติเป็นการพูดที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อให้สาธารณชนได้รู้จัก หรือรับทราบเกี่ยวกับบุคคลนั้นในด้านดีอาจแนะนำเพียงแต่ชื่อนามสกุลวิทยฐานะความรู้ความสามารถและ ประสบการณ์หรือในกรณีที่เป็นผู้กระทำคุณความดีก็จะกล่าวยกย่องหรือประกาศเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฎแก่ สาธารณชนเพื่อเป็นแบบอย่างแนวทางที่ดีในการประพฤติดีในการประพฤติปฏิบัติต่อไปการพูดเพื่อให้เกียรติมัก ใช้ในโอกาสต่อไปนี้
๑.การกล่าวแนะนำบุคคลต่อหน้สที่ประชุมชน
๒.การกล่าวประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านต่างๆ
๓.การกล่าวสดุดีแก่ผู้สร้างวีรกรรมอันนำมาซึ่งชื่อเสียงของประเทศชาติ
  หลักทั่วไปของการพูดในงานสังคม
                 การพูดในงานสังคมมักใช้ในโอกาสที่ต่างกันออกไปรูปแบบของงานก็มีทั้งที่คล้ายกันและแตกต่างกันออกไปบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดงานฉะนั้นผู้พูดจึงควรคำนึงหลักโดยรวมของการพูดในงานสังคมดังนี้
๑.คำนึงถึงโอกาสที่พูดเป็นสำคัญเพราะสถานการณ์ในการพูดย่อมแตกต่างกันไปตามวาระโอกาสที่พูด เช่นงานเลี้ยงที่มีบรรยากาศสนุกสนานรื่นเริงเป็นกันเองหรืองานเลี้ยงที่ค่อนข้างเป็นพิธีกรวิธีการพูดและการ แสดงออกของผู้พูด
๒.วิเคราะห์ผู้ฟังเพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหาสาระได้เหมาะสมใช้ภาษาและถ้อยคำได้เหมาะสมกับเพศวัยและความรู้ ของผู้ฟังแสดงมารยาทในการทักทายได้ถูกต้อง
๓.เตรียมการพูดการพูดไม่ว่าจะมีเวลาเตรียมตัวมากหรือน้อยเพียงใดผู้พูดก็จะต้องเตรียมการพูดโดยยึดหลักสำคัญๆ คือเตรียมคำกล่าวนำหรือคำขึ้นต้นเนื้อหาและบทสรุป
๔.เลือกถ้อยคำและภาษาที่ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ฟังเช่นการนำสำนวนโวหารกรือสุภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง มากล่าวอ้างเพื่อประกอบคำพูด
๕.พูดให้มีเสียงดังฟังชัดไม่เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปพูดให้มีจังหวะพอเหมาะเพราะท่วงทำนองการพูดที่น่าฟังนั้นจะช่วย ให้ผู้ฟังไม่เกิดความรำคัญ
๖.แสดงมารยาทในการพูดให้เหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบการพูดลงไปโดยเฉพาะมารยาทในการทักทายผู้ฟังก่อน การเริ่มต้นพูดหรือจบการพูดโดยกล่าวปิดท้ายตามธรรมเนียมไทยคือกล่าวสวัสดีหรือขอบคุณแล้วแต่ความเหมาะสม
๗.ใช้เวลาให้เหมาะสมกับโอกาสการพูดบางอย่างควรรวบรัดภายใน๓-๔นาทีผู้พูดก็ไม่ควรพูดนานเกินไปทั้งนี้ควรใช้เวลาในการพูดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการพูด
 แนวทางการพูดในโอกาสต่างๆ
                     การพูดในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นนอกจากจะสื่อความรู้ความเข้าใจเรื่องราวต่างๆแล้วยังต้องสื่ออารมณ์ ความรู้สึกถ่ายทอดไปสู่กันและกันด้วยฉะนั้นการพูดจากันนอกจากจะพูดคุยกันตามปกติแล้วยังมีการพูดในโอกาสพิเศษ เช่นการพูดในงามมงคลงานศพการเข้าสมาคมในโอกาสต่างๆจึงจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องฝึกฝนการใช้คำพูดให้ถูกต้องไพเราะเหมาะสม เหมาะกับเหตุการณ์ การพูดในโอกาสต่าง ๆ ที่ควรทราบ เช่น การพูดแนะนำ การพูดแสดงความยินดี การพูดแสดงความเสียใจ การกล่าวขอบคุณ การกล่าวต้อนรับ การพูดอวยพร การพูดสนทนาทางโทรศัพท์ การพูดเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ
๑. การพูดแสดงความยินดี
ในบางโอกาสผู้ที่เราพบปะหรือคุ้นเคยอาจจะประสบโชคดี มีความสมหวังหรือ มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและการงานเราควรจะต้องพูดแสดงความยินดีเพื่อร่วมชื่นชมในความสำเร็จนั้น
วิธีการ
๑) ใช้คำพูดให้ถูกต้องเหมาะสม
๒) ใช้น้ำเสียง ท่าทาง สุภาพ นุ่มนวล ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
๓) พูดช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ พูดสั้น ๆ ให้ได้ใจความและประทับใจ
ตัวอย่าง
ขอแสดงความยินดีกับคุณที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านในหมู่บ้านของเรา เลือกคุณด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นมาก ขอให้คุณเป็นผู้นำของพวกเรานาน ๆ สร้างความ เจริญแก่ชุมชนของพวกเราตลอดไปนะครับ ผมดีใจด้วยและขอสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ความสามารถเลยครับ

 ๒. การพูดแสดงความเสียใจ
                ในบางโอกาสญาติพี่น้องหรือคนที่เรารู้จักประสบเคราะห์กรรมผิดหวัง เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เป็นมารยาทที่ดีที่เราควรพูดปลอบใจให้กำลังใจแก่ผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้น หรือพูดปลอบใจแก่ญาติพี่น้องของผู้เคราะห์ร้ายนั้น เพื่อให้เขาเกิดกำลังใจต่อไป
วิธีการ
๑. พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องปกติ
๒. แสดงความรู้สึกห่วงใยร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
๓. พูดด้วยน้ำเสียงแสดงความเศร้าสลดใจ
๔. พูดด้วยวาจาที่สุภาพ
๕. ให้กำลังใจและยินดีที่จะช่วย
ตัวอย่าง
"ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งที่ทราบว่าคุณพ่อของคุณถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วนอย่างนี้ ท่านไม่น่าจากเราไปรวดเร็วเลยนะ ดิฉันเห็นใจคุณจริง ๆ ขอให้คุณทำใจดี ๆ ไว้ความตายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเลย จะให้ดิฉันช่วยอะไรก็บอกมาเลยไม่ต้องเกรงใจ ดิฉันยินดีช่วยด้วยความเต็มใจจริง ๆ นะคะ


๓. การพูดแนะนำ
                    การพบปะบุคคลซึ่งเคยรู้จักกันมาก่อนและบุคคลอื่น ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก่อนที่จะรู้จักกันย่อมจะต้องมีการแนะนำให้รู้จักกันเพื่อคุยเรื่องอื่นๆต่อไปการแนะนำให้รู้จัก กันมีทั้งการแนะนำ ตนเองและแนะนำผู้อื่น
การแนะนำตนเอง คือ การกล่าวถึงตนเองให้ผู้อื่นรู้จัก โอกาสในการแนะนำตนเองมีต่าง ๆ ดังนั้น
๑) ในการติดต่อกัน
๒) ในการประชุม ชุมนุมพิเศษหรืองานเลี้ยงต่าง ๆ
๓) ในฐานะเป็นสมาชิกใหม่ของชุมชนหรือสถาบัน
๔) ในการเข้าสอบสัมภาษณ์
๕) ในการไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
วิธีการพูดแนะนำตนเอง
๑) การกล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้
คำนำคือกล่าวทักทายผู้ฟังและอารัมภบทเช่นท่านประธานและท่านสุภาพชนทุกท่านท่านประธาน พิธีกรและเพื่อนสมาชิก
- ชื่อและนามสกุล
- ถิ่นกำเนิด
- การศึกษา
- ความรู้ความสามารถพิเศษ
- ตำแหน่งหน้าที่การงาน
- งานอดิเรก (ถ้ามี)
- หลักหรือแผนการในการดำเนินชีวิต
- ที่อยู่ปัจจุบันการกล่าวถึงจะมากน้อยหรือจะตัดเรื่องใดออกหรือพลิกแพลงอย่างไรขึ้นอยู่กับ
สถานที่บุคคลและโอกาสต่าง ๆ ดังกล่าว
๒) แทรกเรื่องราวของชีวิตที่เด่นที่สุด ประทับใจที่สุด หรือเรื่องที่ทำให้เรื่องราวมีรสชาติ น่าสนใจ และเป็นที่ประทับใจผู้ฟัง
๓) เรียบเรียงเรื่องราวให้สัมพันธ์กันโดยไม่สับสน การลำดับเรื่องราวเป็นเทคนิคเฉพาะตน
๔) ข้อความที่กล่าวจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่บุคคลและโอกาสด้วย

ตัวอย่างการแนะนำตนเองในที่ชุมนุมชน
ท่านประธาน และสมาชิกชมรมพัฒนาชีวิตทุกท่านดิฉันขอขอบคุณพิธีกรมากค่ะ ที่ให้โอกาสดิฉันได้แนะนำตัวเองดิฉันนางสาวสมศรีรัตนสุนทรเกิดไกลหน่อยคืออำเภอปัวจังหวัดน่านค่ะ มาอยู่กรุงเทพฯ นี่ ๔ ปีแล้ว โดยดิฉัน ทำงานเป็นพนักงานขาย ที่ร้านใบแก้ว ดิฉันเรียนจบชั้นมัธยมปีที่สามที่โรงเรียนใกล้บ้านนั่นเองค่ะความที่เป็นคนช่างพูดหลังจากจบแล้วเพื่อนชวนมาทำงานที่ถูกกับนิสัยก็เลยมา และเนื่องจากดิฉันไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ จึงเห็นว่าการศึกษาทางไกลนี้จะช่วยให้ดิฉัน
พัฒนาชีวิตได้ดียิ่งขึ้นแทนการศึกษาในโรงเรียน จึงสมัครเป็นสมาชิก และต่อไปจะตั้งใจเรียน และร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรมค่ะ ปัจจุบันดิฉันพักอยู่ที่ร้านที่ดิฉันทำงานนั่นแหละค่ะถ้ามีเรื่องใดจะให้ทำติดต่อได้ที่ร้านนั่นเลยสำหรับที่อยู่ของร้าน มีอยู่ในทะเบียนบัญชีรายชื่อ นักศึกษาแล้วค่ะ สวัสดีค่ะ
การแนะนำผู้อื่น คือ การแนะนำบุคคลที่ ๓ ให้บุคคลที่ ๒ รู้จักในโอกาสต่าง เช่นเดียวกับการแนะนำตนเอง
วีการแนะนำผู้อื่น

ใช้หลักการอย่างเดียวกับการแนะนำตนเองและคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้เพิ่มเติมคือ
๑) แนะนำสั้น ๆ
๒) แนะนำเฉพาะเรื่องที่เป็นปมเด่น เรื่องที่เป็นปมด้อยหรือเรื่องที่ไม่เหมาะสมไม่ควรกล่าวถึง เรื่องที่แนะนำควรได้รับอนุญาตจากผู้ถูกแนะนำก่อน
๓) การแนะนำระหว่างสุภาพบุรุษกับสุภาพสตรี ต้องแนะนำให้สุภาพบุรุษรู้จักสุภาพสตรี โดยกล่าวนามสุภาพสตรี เช่น คุณสุดาครับ นี่คุณพนัส รักความดี สมุห์บัญชีธนาคารออมสินสาขานนทบุรี คุณพนัส นี่คุณสุดา มณีแก้วครับ สมุห์บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขานนทบุรีในการแนะนำ ถ้าสุภาพบุรุษนั่งอยู่ควรยืนขึ้น แต่สุภาพสตรีถ้านั่งอยู่และได้รับการแนะนำไม่ต้องยืน ถ้าเป็นการแนะนำหลายคนจะนั่งลงเมื่อแนะนำครบทุกคนแล้ว
๔) แนะนำผู้อ่อนอาวุโสให้รู้จักผู้อาวุโส โดยเอ่ยนามผู้อาวุโสก่อน เช่น คุณแม่คะ นี่น้องเพื่อนของลูก” “ผู้จัดการคะ นี่คุณสมพงษ์ ใจซื่อ ประชาสัมพันธ์โรงแรมลานทองค่ะคุณสมพงษ์คะนี่คุณสวัสดิ์เรืองรองผู้จัดการบริษัทสมบูรณ์ที่คุณต้องการพบค่ะในเรื่องอาวุโสถือตามวัยวุฒิ บางโอกาสถือตามตำแหน่งหน้าที่การงานผู้แนะนำต้องคำนึงตามโอกาสให้เหมาะด้วย
๕) การแนะนำบุคคลต่อที่ประชุมหรือชุมชนต่าง ๆ เอ่ยถึงกลุ่มชนก่อน เช่นท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผู้พูดช่วงเวลาต่อไปนี้คือ คุณปราโมทย์ พงษ์ทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยนานา ท่านจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และจบปริญญาโททางด้านบริหารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันประสบการณ์ของท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยนานาและทำหน้าที่บริหารงานมา ๕ ปีแล้วผลิตบัณฑิตจนถึง ๔ รุ่น วันนี้ท่านสละเวลาให้เกียรติมาบรรยายเรื่องการศึกษากับการพัฒนาชนบทเชิญท่านรับฟังแนวคิดของวิทยากรได้แล้วครับ
๖) การแนะนำบุคคลรุ่นเดียวกัน เพศเดียวกัน จะแนะนำใครก่อนหลังก็ได้ข้อปฏิบัติสำหรับการแนะนำเมื่อผ่านการแนะนำแล้ว ผู้อ่อนอาวุโสยกมือไหว้ผู้อาวุโส และผู้อาวุโสกว่ารับไหว้ ถ้าอาวุโสเท่าเทียมกันก็ยกมือไหว้พร้อมกัน แต่ปัจจุบันมักก้มศีรษะให้แก่กันพอเป็นพิธีก็ได้ การแนะนำในที่ประชุมเมื่อผู้รับการแนะนำต่อที่ประชุมถูกเอ่ยชื่อ ควรยืนขึ้นคารวะต่อ ที่ประชุมและที่ประชุมปรบมือต้อนรับ


๔. การกล่าวขอบคุณ
การกล่าวขอบคุณอาจใช้ได้หลายโอกาสเช่นการกล่าวขอบคุณเมื่อผู้พูดหรือวิทยากรพูดจบกล่าวขอบคุณเมื่อมีผู้กล่าวต้อนรับ กล่าวขอบคุณผู้มาร่วมงานหรือในกิจกรรมกล่าวขอบคุณเมื่อมีผู้มอบของขวัญหรือของที่ระลึกขอบคุณแต่ละโอกาสดังต่อไปนี้
๔.๑การกล่าวขอบคุณผู้พูดเมื่อผู้พูดพูดจบลงผู้กล่าวขอบคุณหรือผู้ที่ทำหน้าที่พูดแนะนำควรจะกล่าวสรุปเน้นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการพูดครั้งนี้อย่างสั้น ๆ แล้วจึงกล่าวขอบคุณ
๔.๒การกล่าวขอบคุณเมื่อมีผู้กล่าวต้อนรับหรือการกล่าวตอบรับเมื่อผู้กล่าวต้อนรับพูดจบแล้วผู้กล่าวตอบรับควรจะกล่าวตอบในลักษณะที่แสดงความรู้สึกที่มีต่อการต้อนรับ และเนื้อหา ในการกล่าวตอบรับจะต้อง สอดคล้องกับการกล่าวต้อนรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความสัมพันธ์ อันดีของทั้งสองฝ่ายที่มีต่อกัน ผู้กล่าวขอบคุณควรจะเน้นจุดสำคัญ และกล่าวเชื้อเชิญให้ผู้ต้อนรับ ไปเยือนสถานที่ของตนบ้าง
๔.๓การกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมในงานหรือในกิจกรรมในการกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมในงานหรือในกิจกรรมนั้นควรแสดงไมตรีจิตต่อแขกที่มาร่วมในงานแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจ และกล่าวขออภัยในความบกพร่อง ของกิจกรรมที่จัดขึ้น
๔.๔ การกล่าวขอบคุณหรือตอบรับเมื่อมีผู้มอบของขวัญหรือของที่ระลึก ผู้กล่าวตอบรับควรจะได้แสดงความชื่นชมในสิ่งของที่ได้รับมอบและกล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้รับ มอบสิ่งของนั้นแล้ว

วิธีการกล่าวขอบคุณ
๑)การขอบคุณการพูดหรือขอบคุณใช้ในโอกาสที่มีผู้อื่นได้ช่วยเหลือหรือมีบุญคุณแก่เราถือว่าเป็นมารยาทที่จะต้องแสดงความยินดีและกล่าวขอบคุณในน้ำใจของเขา คือ เป็นการแสดงออกถึงการรู้คุณผู้อื่น เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามที่ควรรักษาไว้อย่างยิ่ง
๑. คำว่า ขอบใจ นิยมใช้พูดเพื่อแสดงความขอบใจแก่คนที่มีอายุน้อยกว่าเราเช่นพี่ขอขอบใจน้องมาก
ที่ช่วยยกกระเป๋าให้
๒. คำว่า ขอบคุณ นิยมใช้พูดเพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับผู้ที่เสมอกันหรือผู้ที่มีอาวุโสกว่าผู้พูด เช่น
ผมขอขอบคุณคุณนิคมมากที่มาส่งผมที่สถานีรถไฟวันนี้
๓. หากต้องการยกย่องเทิดทูนผู้ที่ตนเคารพนับถือมาก ที่ท่านกรุณาช่วยเหลือเรา หรือให้สิ่งใดแก่เราก็ควรกล่าวว่า ขอบพระคุณ เช่น
ลูกขอกราบขอบพระคุณคุณพ่อคุณแม่มากที่ซื้อของมาฝาก
๔. ควรพูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ชวนฟัง สุภาพ ไม่รีบร้อนจนเกินไป
๕. ควรแสดงท่าทางที่เป็นมิตร นอบน้อม มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
๖. ควรพูดให้ผู้ฟังรู้สึกว่า เราซาบซึ้งในพระคุณและจะพยายามหาโอกาสที่จะตอบแทนในโอกาสต่อไป
๗. หากเป็นการกล่าวขอบคุณในนามตัวแทน หมู่คณะ ควรพูดให้ชัดเจนว่า กล่าวขอบคุณในนามของหมู่คณะใด เนื่องในโอกาสอะไร ขอบคุณใคร พูดให้สั้น กะทัดรัดได้ความดี
๘. โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นการขอบคุณผู้ที่เคารพนับถือ หรือผู้มีอาวุโสมากกว่าเราการกล่าวขอบคุณมักจะกล่าวพร้อม ๆ กับยกมือไหว้ด้วยเสมอ

ตัวอย่างการกล่าวขอบคุณ
๑) การกล่าวขอบคุณผู้มีอาวุโสกว่า
ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของท่านกำนันเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบโต๊ะเก้าอี้จำนวน๑๐ชุดแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ นับเป็นบุญกุศลอันดียิ่งที่เด็กๆจะได้มีโต๊ะเก้าอี้พอเพียงแก่การศึกษาเล่าเรียนดิฉันและเด็กๆมีความยินดีในเมตตาจิตของ ท่านกำนันเป็นอย่างมาก จึงขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาของท่านกำนัน ไว้ ณ ที่นี้ขอกราบขอบพระคุณค่ะ (พูดจบพร้อมกับยกมือไหว้)
๒) การกล่าวขอบคุณในนามหมู่คณะบุคคล
ผมในนามผู้นำชาวบ้านท่าเวียงขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงต่อท่านนายอำเภอตลอดจนเจ้าหน้าที่จากอำเภอทุกท่านที่ได้มาบริการ
ความสะดวกสบายแก่ประชาชนในบ้านท่าเวียงโดยการนำอำเภอเคลื่อนที่มาบริการวันนี้หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่องในการต้อน
รับขับสู้ผมและชาวบ้านก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยผมและชาวบ้านทุกคนรู้สึก ซาบซึ้งและยินดีในความกรุณาของท่านนายอำเภอและ
เจ้าหน้าที่ทุกท่านผมในนามชาวบ้านท่าเวียงไม่มีสิ่งใดจะตอบแทนนอกจากจะขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ (ยกมือไหว้)

๕. การกล่าวอวยพร
การพูดอวยพรมักใช้ควบคู่ไปกับการแสดงความยินดีหรือแสดงความปรารถนาดีเพราะก่อนจะอวยพรมักต้องแสดงความยินดีมาก่อน หรือถ้าเป็นการกล่าวแสดงความยินดีโดยแท้จริงก็มักลงท้ายด้วยการอวยพรการอวยพรมีหลายโอกาส เช่น ในงานมงคลสมรส งานวันเกิด งานวันปีใหม่ขึ้นบ้านใหม่ ตลอดจนการอวยพรของผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งมักเรียกว่า อำนวยพร (อำนวยอวยพร อวยชัยให้พร ให้ศีลให้พร) แก่ลูกหลาน ลูกศิษย์ ผู้ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ ข้อปฏิบัติโดยทั่วไปในการพูดอวยพรมีดังนี้
๑) พูดด้วยท่าทีร่าเริงเป็นการแสดงความยินดีไปในตัว
๒) เริ่มต้นด้วยเสียงค่อนข้างดังเล็กน้อย เป็นการเรียกความสนใจเพราะงานชนิดนี้ มักมีเสียงรบกวนมาก ข้อความตอนต้นควรเป็นใจความง่าย ๆ สั้น ๆ
๓) ควรดำเนินเรื่องให้เป็นไปตามความเหมาะสม เช่น ถ้าเป็นงานวันเกิด ควรกล่าวถึงความสำคัญในวันเกิด แล้วจึงพูดถึงคุณงามความดี และเกียรติคุณของเจ้าภาพตามสมควร ถ้าเป็นการแต่งงาน ควรเริ่มด้วยการบอกกล่าว ถึงความสัมพันธ์ของท่านกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายถ้าผู้พูดรู้จักทั้งคู่ถ้ามีประสบการณ์มากพอควรให้ข้อคิดในชีวิตการสมรส แล้วกล่าวแสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้สมรสกัน อันจะเป็นการก่อสร้างรากฐาน เป็นครอบครัวที่ดีต่อไป
๔) ลงท้ายด้วยการกล่าวคำอวยพร ขอให้มีความสุขความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไปการพูดอวยพรถือเป็นการพูดในงานมงคล ไม่ควรจะให้มีถ้อยคำซึ่งไม่น่าปรารถนา (ไม่เป็นมงคล) ในคำกล่าว เช่น ในงานวันเกิด ไม่ควรมีคำว่า ตาย” “แก่” “เจ็บป่วยฯลฯ ในงานสมรสไม่ควรมีคำว่า แต่งงานใหม่ฯลฯ อยู่ด้วยจะดีมาก ไม่ควรพูดยืดยาว ซ้ำซาก ควรทักทายที่ประชุมให้ถูกต้องตามลำดับ คำขึ้นต้นควรให้เร้าความสนใจตอนจบใช้ถ้อยคำ ให้ประทับใจ ในเรื่องจะกล่าวถึง การกล่าวอวยพรเฉพาะงานมงคลที่ใช้กันอยู่เสมอ คือ
๕.๑ การกล่าวอวยพรในงานมงคลสมรส การกล่าวในพิธีมงคลสมรส จะใช้เวลาไม่เกิน ๑๐ นาที โดยปกติจะใช้เวลา ๕ ๗ นาที นิยมพูดปากเปล่า ซึ่งมีหลักการกล่าวที่ควรยึดเป็นแนวปฏิบัติ ดังนี้
๑) กล่าวคำปฏิสันถาร
๒) กล่าวถึงความรู้สึกว่าเป็นเกียรติที่ได้ขึ้นมาอวยพร
๓) ความสัมพันธ์ของผู้พูดกับคู่บ่าวสาว
๔) ให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตและการครองรัก
๕) อวยพรและเชิญชวนให้ดื่มอวยพร

๕.๒ การกล่าวอวยพรในวันขึ้นปีใหม่ การกล่าวคำอวยพรในวันขึ้นปีใหม่มักจะพูดปากเปล่า โดยมีหลักที่ควรยึดเป็นแนวปฏิบัติในการกล่าวดังนี้
๑) กล่าวคำปฏิสันถาร
๒) กล่าวถึงชีวิตในปีเก่าที่ผ่านมา
๓) กล่าวถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในปีใหม่
๔) อวยพร
๕.๓การกล่าวอวยพรวันคล้ายวันเกิดการกล่าวในพิธีดังกล่าวนิยมพูดปากเปล่ามีหลักการที่ควรยึดเป็น แนวการปฏิบัติในการกล่าวดังนี้

๑) คำปฏิสันถาร
๒) กล่าวรู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสกล่าวคำอวยพร
๓) การสร้างคุณงามความดี หรือพูดถึงความสัมพันธ์ที่ผู้พูดมีต่อท่านผู้นั้น
๔) การเป็นที่พึ่งของบุตรหลาน
๕) อวยพรให้มีความสุข

วิธีการกล่าวอวยพร มีข้อปฏิบัติที่ควรจำดังนี้
๑.ควรกล่าวถึงโอกาสและวันสำคัญนั้นๆที่ได้มาอวยพรว่าเป็นวันสำคัญอย่างไรในโอกาสดีอย่างไร มีความหมายแก่เจ้าภาพหรือการจัดงานนั้น อย่างไรบ้าง
๒. ควรใช้คำพูดที่สุภาพ ไพเราะ ถูกต้อง เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟัง
๓. ควรกล่าวให้สั้น ๆ ใช้คำพูดง่าย ๆ ฟังเข้าใจดี กะทัดรัด กระชับความ น่าประทับใจ
๔.ควรกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้อวยพรกับเจ้าภาพกล่าวให้เกียรติชมเชยในความดีของเจ้าภาพและ
แสดงความปรารถนาดีที่มีต่อเจ้าภาพ
๕. ควรใช้คำพูดอวยพรให้ถูกต้อง หากเป็นการอวยพรผู้ใหญ่นิยมอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือมาประทานพร

ตัวอย่างการกล่าวอวยพรวันเกิด
วันนี้เป็นวันอันเป็นมงคลยิ่งคือวันเกิดของหลานรักของลุงลุงมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่เห็นหลานโตวันโตคืน ตลอดเวลา๑๐กว่าปีที่ผ่านมาลุงเฝ้าดูความเจริญ ของหลาน ด้วยความชื่นใจ มาวันนี้ครบรอบวันเกิดปีที่ ๑๑ แล้วลุงขอให้หลานรัก
มีแต่ความสุข ความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน เป็นที่รักของปู่ย่าตายายตลอดไป
ตัวอย่างการอวยพรคู่บ่าวสาว
สวัสดี……ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านผมรู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ที่ได้รับเกียรติ จากเจ้าภาพให้ขึ้นมากล่าวในวันนี้ ผมขอกล่าวจากความรู้สึกที่ได้มา พบเห็นงานมงคลสมรสในวันนี้ ผมประทับใจมากที่ได้เห็นใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ทั้งคู่มีความเหมาะสมกันดีมาก ทั้งผมเองก็เป็นผู้ที่เคย ทำงานร่วมกันมาทั้งสองคน รู้สึกชอบพออัธยาศัยเป็นอย่างดีและ เห็นว่าทั้งคู่ มีความเข้าอกเข้าใจ ซื่อสัตย์ รักมั่นต่อกันมานานปี เมื่อมางานมงคลสมรสครั้งนี้
จึงมีความปลื้มปีติเป็นอย่างมากที่ทั้งสองมีความสมหวังสมปรารถนาด้วยกัน ผมหวังว่าทั้งสองจะครองรักกันให้มั่นคงจีรังได้นานแสนนาน จึงขออวยพรให้คู่บ่าวสาว จงรักกัน เข้าใจกัน ทะนุถนอมน้ำใจ มีความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกันและรู้จักให้อภัยต่อกัน ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขทุกคืนทุกวัน สวัสดีครับ

 ๖. การกล่าวต้อนรับ
                ในโอกาสที่มีผู้มาใหม่เช่นเจ้าหน้าที่ใหม่นักศึกษาใหม่หรือผู้ที่มาเยี่ยมเพื่อพบปะชมกิจการในโอกาสเช่นนี้จะต้องมีการกล่าวต้อนรับ เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีและแสดง ความยินดี ผู้กล่าวต้อนรับควรเป็นผู้มีฐานะ มีเกียรติเหมาะสมกับฐานะผู้มาเยือน ถ้าเป็นการ กล่าวต้อนรับนิสิตหรือนักศึกษาใหม่ก็มุ่งหมายที่จะให้ความอบอุ่นใจ และให้ทราบถึง สิ่งที่ควรปฏิบัติร่วมกันในสถานศึกษานั้น ๆ เป็นต้น การกล่าวต้อนรับควรยึดแนวปฏิบัติดังนี้
๖.๑ เริ่มด้วยการกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้มาใหม่ (ผู้มาเยี่ยม หรือผู้มาร่วมงาน)
๖.๒ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการเยี่ยมเยือน เพื่อให้เห็นว่าฝ่ายต้อนรับนั้นเห็นความสำคัญของการเยี่ยม ถ้าเป็นผู้ร่วมงาน ก็ควรกล่าวถึงหน้าที่การงาน กิจการในปัจจุบันที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้มาใหม่ ถ้าเป็นนิสิตหรือนักศึกษาใหม่ ก็ควรชี้ให้เห็นคุณค่าและความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิชาต่างๆแนะนำให้รู้จักสถานศึกษารวมทั้งให้รู้สึกภูมิใจที่ได้มาศึกษาในสถานศึกษาแห่งนั้น
๖.๓ แสดงความหวังว่าผู้มาเยี่ยมจะได้รับความสะดวกสบายระหว่างที่พำนักอยู่ในสถานที่นั้น หรือระหว่างการเยี่ยมเยือนนั้น
๖.๔ สรุปเป็นทำนองเรียกร้องให้อาคันตุกะกลับมาเยี่ยมเยือนอีก ส่วนในกรณีที่เป็นผู้มาใหม่ก็หวังว่าจะได้ร่วมงานกันตลอดไปด้วยความราบรื่น


วิธีการกล่าวต้อนรับ
๑. ควรกล่าวต้อนรับสั้น ๆ และไม่ควรพูดเกิน ๑๕ นาที
๒.ในกรณีผู้มาเยี่ยมนั้นมาเป็นกลุ่มในนามของสถาบันเช่นองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเยี่ยม องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้กล่าวต้อนรับ จะกล่าวแสดงความยินดีและกล่าวอ้างถึง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองสถาบันพร้อมทั้งย้ำถึงความร่วมมือของสถาบันทั้งสองในโอกาสต่อไปด้วย
จะจบด้วยการสรุปตามหลักข้างต้นก็ได้