วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑๐ การเขียนโครงการ

ความหมายของโครงการ
            คำว่า โครงการมีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “project”  เป็นแผนงานที่จัดทำขึ้นอย่างรอบคอบเป็นระบบพร้อมกับมีแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของแผนงานที่ได้กำหนดไว้ โดยใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานอย่างคุ้มค่ามีจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดชัดเจนมีพื้นที่ในการดำเนินงานเพื่อให้บริการมีบุคคล หรือหน่วยงานรับผิดชอบ
 ลักษณะสำคัญของโครงการ
        การเขียนโครงการ  มีลักษณะการเขียนแตกต่างไปจากการเขียนประเภทอื่น ๆ โครงการที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑.  ต้องมีระบบ (System) 
โครงการต้องประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นกระบวนการถ้าส่วนใดเปลี่ยนแปลงไปจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ ตามไปด้วย
๒.  ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน (Clear  Objective)
โครงการต้องกำหนดวัตถุประสงค์สอดคล้องกับความเป็นมาของโครงการมีความเป็นไปได้ชัดเจนและเป้าหมายของโครงการต้องประกอบด้วยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
๓.  ต้องเป็นการดำเนินงานในอนาคต (Future  Operation)
เนื่องจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมามีข้อบกพร่องจึงควรแก้ไขและปรับปรุงโครงการจึงเป็นการดำเนินงานเพื่ออนาคต
๔.  เป็นการทำงานชั่วคราว (temporary task) โครงการเป็นการทำงานเฉพาะกิจเป็นคราว ๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาไม่ใช่การทำงานที่เป็นการทำงานประจำ หรืองานปกติ
๕.  มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
(Difinitely Duration)โครงการต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน โดยกำหนดเวลาเริ่มต้น และเวลาที่สิ้นสุดให้ชัดเจน  ถ้าไม่กำหนดเวลาหรือปล่อยให้โครงการดำเนินไปเรื่อย ๆ ย่อมไม่สามารถประเมินผลสำเร็จได้ซึ่งจะกลายเป็นการดำเนินงานตามปกต
.  มีลักษณะเป็นงานที่เร่งด่วน (Urgently task) โครงการต้องเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสนองนโยบายเร่งด่วนที่ต้องการจะพัฒนางานให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ หรือเป็นงานใหม่
๗.  ต้องมีต้นทุนการผลิตต่ำ (Low Cost)การดำเนินงานตามโครงการต้องมีการใช้ทรัพยากรหรืองบประมาณโครงการจะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมีการลงทุนน้อย   แต่ได้รับประโยชน์สูงสุด
๘.  เป็นการริเริ่มหรือพัฒนางาน (Creativity or Developing) โครงการต้องเป็นความคิดริเริ่มที่แปลกใหมเพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรค และพัฒนางานให้เจริญก้าวหน้า
 ความสำคัญของโครงการ
    เนื่องจากโครงการ (Project) เป็นสารที่เรียบเรียงขึ้นเป็นขั้นตอน  และมีแผนปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังนั้นโครงการจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของแผนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานการวางแผนโครงการ   มีกระบวนการและขั้นตอน  เช่นเดียวกับการวางแผนโดยทั่วไป คือ ประกอบด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์  การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล  การพิจารณาถึงอุปสรรค ปัญหา  ค้นหาโอกาสเลือกแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปได้  หรือวิถีทางที่ดีที่สุดและกระบวนการสุดท้าย คือ การตรวจสอบ ทบทวนและการประเมินผลโครงการ  ดังนั้นโครงการจึงมีความสำคัญต่อแผนการการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
๑.  ช่วยชี้ให้เห็นถึงปัญหา  และภูมิหลังของการทำงาน
๒.  ช่วยให้การปฏิบัติงานตามแผนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๓.  ช่วยให้แผนงานมีความชัดเจน โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและรับรู้ถึงปัญหาร่วมกัน
๔.  ช่วยให้แผนงานมีทรัพยากรใช้อย่างเพียงพอ เหมาะสมกับสภาพปฏิบัติจริง  เพราะมีรายละเอียดการใช้ทรัพยากรที่ชัดเจน
๕.  ช่วยให้แผนงานมีความเป็นไปได้สูงเพราะมีผู้รับผิดชอบ และมีความเข้าใจในการดำเนินงาน

๖.  ช่วยลดความขัดแย้ง  และขจัดความซ้ำซ้อนในหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน
เพราะแต่ละหน่วยงาน   มีโครงการที่ได้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ  เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของบุคคลในหน่วยงาน
๗.  สร้างทัศนคติที่ดีต่อบุคลากรในหน่วยงาน  เป็นการเสริมสร้างความสามัคคี และความรับผิดชอบร่วมกัน  ตามความรู้  ความสามารถ และศักยภาพของแต่ละบุคคลอย่างเต็มที่
๘.  สร้างความมั่นคงให้กับแผนงาน และสร้างความมั่นใจในการดำเนินงานให้กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ
๙.  สามารถควบคุมการทำงานได้สะดวก ไม่ซ้ำซ้อน เพราะงานได้แยกออกเป็นส่วน ๆ
ตามลักษณะเฉพาะของงาน
ส่วนประกอบของโครงการ
    ในการเขียนโครงการ  ผู้เขียนจำเป็นต้องเข้าใจส่วนประกอบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้การเขียนโครงการเป็นไปตามลำดับขั้นตอน มีเหตุผลน่าเชื่อถือ และการเขียนส่วนประกอบของโครงการ
ครบถ้วนช่วยให้การลงมือปฏิบัติตามโครงการเป็นไปโดยราบรื่น รวดเร็ว และสมบูรณ์ส่วนประกอบของโครงการ จำแนกได้ 3 ส่วน ดังต่อไปนี้
๑. ส่วนนำ หมายถึง  ส่วนที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ ส่วนนำของโครงการมุ่งตอบคำถามต่อไปนี้ คือโครงการนั้นคือโครงการอะไร เกี่ยวข้องกับใคร ใครเป็นผู้เสนอหรือดำเนินโครงการ โครงการนั้นมีความเป็นมาหรือความสำคัญอย่างไร  ทำไมจึงจัดโครงการนั้นขึ้นมา  และมีวัตถุประสงค์อย่างไรจะเห็นได้ว่า ความในส่วนนำต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะให้ผู้อ่าน  และผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจข้อมูลพื้นฐาน ก่อนจะอ่านรายละเอียดในโครงการต่อไป   ส่วนนำของโครงการประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
๑.๑  ชื่อโครงการ ( Project Title )
๑.๒  โครงการหลัก ( Main  Project )
๑.๓  แผนงาน ( Plan )
๑.๔  ผู้รับผิดชอบ หรือผู้ดำเนินโครงการ ( Project  Responsibility )

๑.๕  ลักษณะโครงการ ( Project Characteristic )
๑.๖  หลักการและเหตุผล (ความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ) (Reason  for Project Determination)
๑.๗  วัตถุประสงค์(Objectives)การเขียนส่วนนำของโครงการต้องทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ
 และเห็นความสำคัญของโครงการนั้น   พร้อมตัดสินใจว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจหรือไม่
หากผู้อ่านเป็นกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ต้องพิจารณาอนุมัติ  หรือให้การสนับสนุนก็อาจจะเกิดแนวคิดว่าจะให้ความช่วยเหลือโครงการนั้นแค่ไหน เพียงใด ก่อนที่จะอ่านรายละเอียดอื่น ๆ
ต่อไป  ดังนั้น ผู้เขียนโครงการต้องพิถีพิถันในการใช้ภาษาให้ถูกต้องชัดเจน รัดกุม และเหมาะสม โดยชี้แจงเหตุผลสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน

๒. ส่วนเนื้อความ  หมายถึง  ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ ได้แก่ วิธีดำเนินการซึ่งกล่าวถึงลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานรวมทั้งพื้นที่การปฏิบัติงาน ซึ่งครอบคลุมปริมาณ และคุณภาพ ตลอดจนการดำเนินงานตาม วัน เวลา และสถานที่ส่วนเนื้อความของโครงการประกอบด้วย หัวข้อต่อไปนี้
๒.๑  เป้าหมายของโครงการ (Goal)
๒.๒  ขั้นตอนการดำเนินงาน ( Work Procedure)
๒.๓  วัน   เวลา  และสถานที่ในการดำเนินงาน ( Duration and Place)
วิธีดำเนินการจัดเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ ผู้เขียนต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน วิธีดำเนินการควรแยกอธิบายเป็นข้อๆให้ชัดเจนตามลำดับขั้นตอนการทำงาน
อาจทำแผนผังสรุปวิธีดำเนินการตาม วัน เวลา เพื่อความชัดเจนด้วยก็ได้

                3. ส่วนขยายความ    หมายถึง  ส่วนประกอบที่ให้รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับโครงการได้แก่ ประโยชน์ หรือผลที่คาดว่าจะได้รับงบประมาณดำเนินการหรือแหล่งเงินทุนสนับสนุนตลอดจนการติดตามและประเมินผล ส่วนขยายเนื้อความของโครงการ ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้
๓.๑  งบประมาณที่ใช ้( Budgets)
๓.๒  การประเมินโครงการ ( Project Evaluation )
๓.๓  ผลที่คาดว่าจะได้รับ ( Benefits)
ในส่วนขยายความ  อาจจะเพิ่มเติมผู้เสนอโครงการไว้ในตอนท้ายของโครงการ  ในกรณีที่เป็นโครงการที่ต้องเสนอผ่านตามลำดับขั้นตอนและผู้อนุมัติโครงการลงนามในตอนท้ายสุดของโครงการ

 ลำดับขั้นตอนการเขียนโครงการ
      ได้กล่าวส่วนประกอบของโครงการตามหัวข้อสำคัญ 3 ประการแล้ว  ในที่นี้ขออธิบายรายละเอียด ลำดับขั้นตอนของการเขียนโครงการ ดังต่อไปนี้
๑. ชื่อโครงการ  ซึ่งโครงการต้องมีความชัดเจน  รัดกุม และเฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดความเข้าใจง่ายแก่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้นำโครงการไปปฏิบัติชื่อโครงการจะบอกให้ทราบว่าจะทำสิ่งใด หรือเสนอขึ้น เพื่อทำอะไรโดยปกติชื่อโครงการจะแสดงลักษณะของงานที่ต้องปฏิบัติตัวอย่างเช่น

๑.๑ โครงการโครงการสร้างสื่อการสอน ชุดสาธิต ทดสอบ ปรับแต่ง ตรวจสอบเครื่องรับวิทยุ เครื่องขยายเสียง และระบบเสียง
๑.๒ โครงการโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนในสายงานโรงแรม
๑.๓ โครงการโครงการแข่งขันทักษะวิชาการด้านภาษาอังกฤษ(The  Battle  of  The  Brains)

 ๒. โครงการหลัก
ให้ศึกษาในแผนพัฒนาโรงเรียนว่าโครงการที่จัดทำสามารถอิงกับโครงการหลักใดในแผนพัฒนาโรงเรียน
๓. แผนงาน
ให้ศึกษาว่าโครงการที่ทำนั้นสอดคล้องกับแผนงานใดในแผนพัฒนาโรงเรียน   และสอดคล้องกับมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่เท่าใด ในมาตรฐานอาชีวศึกษา

๔.  ผู้รับผิดชอบโครงการ 
  เป็นการบอกให้ทราบว่า  กลุ่มบุคคลใด  หรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการเสนอ
และดำเนินงานตามโครงการ  ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การประสานงานและการตรวจสอบ
๕. ลักษณะโครงการ
เป็นโครงการใหม่ เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ......... หรือโครงการต่อเนื่อง
๖. หลักการและเหตุผล
   หรืออาจจะเรียกว่าความเป็นมา หรือภูมิหลังของโครงการหลักการและเหตุผล เป็นส่วนที่แสดงถึงปัญหาความจำเป็นหรือความจำเป็นที่ต้องจัดโครงการขึ้นโดยผู้เขียนหรือผู้เสนโครงการ
จะต้องระบุเกิดปัญหาอะไรกับใครที่ไหนเมื่อใด มีสาเหตุมาจากอะไรโดยมีข้อมูลสนับสนุนให้ปรากฏชัดเจนนอกจากนี้จะต้องบอกถึงความจำเป็นที่ต้องจัดทำโครงการว่า ถ้าไม่ทำจะเกิดผลเสียหายอย่างไร ถ้าทำคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาได้อย่างไรนอกจากนั้นยังอาจเพิ่มความสอดคล้องของโครงการกับแผนงานต่างๆหรือโครงการจะช่วยเอื้อให้แผนนั้นๆประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นอย่างไร และถ้าเคยมีรายงานการประเมินโครงการแล้วก็ควรนำมาเขียนเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการจัดทำโครงการด้วย การเขียนหลักการและเหตุผลไม่ควรยาวหรือสั้นเกินไป  โดยเฉพาะการเขียน วกไปวนมาจะทำให้เข้าใจยาก ซึ่งในปัจจุบันมักพบว่าเขียนค่อนข้างสั้นเกินไป  เพียงย่อหน้าเดียว 3-5 บรรทัด  ซึ่งทำให้ขาดข้อมูลสำคัญๆได้การเขียนหลักการและเหตุผลมักเขียนเป็นความเรียง ไม่นิยมเขียนเป็นข้อ ๆ
๗. วัตถุประสงค์   
ควรเขียนให้อยู่ในรูปการลดหรือขจัดปัญหาหรือพัฒนาสิ่งที่ต้องการเพิ่มขึ้นไม่จำเป็นต้องเขียน
วัตถุประสงค์หลายข้อเพราะจำนวนข้อของวัตถุประสงค์ไม่ได้แสดงถึงความมีคุณภาพของโครงการแต่อย่างใดบางครั้งเขียนเกินจริงซึ่งเมื่อประเมินโครงการก็ไม่มีทางสำเร็จได้
ฉะนั้นต้องระบุให้ชัดเจน รัดกุม และสามารถปฏิบัติได้จริงการเขียนวัตถุประสงค์ต้อง
ครอบคลุมเหตุผลที่จะทำโครงการโดยจัดลำดับแยกเป็นข้อ ๆ เพื่อความเข้าใจง่าย และชัดเจน
๘. เป้าหมาย
  เป้าหมายของโครงการเป็นการบอกถึงความต้องการหรือทิศทางในการปฏิบัติงานที่ระบุในเชิงปริมาณเชิงคุณภาพ  เวลาและพื้นที่ในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกิจกรรมของโครงการ
๙.  ขั้นตอนและระยะเวลา
   เป็นการกล่าวถึงลำดับขั้นตอนการทำงาน  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่กำหนดในโครงการวิธีดำเนินการมักจำแนกเป็นกิจกรรมย่อย ๆ โดยแสดงให้เห็นชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการว่ามีกิจกรรมใดที่ต้องทำ ทำเมื่อใด  ผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบและจะทำอย่างไรอาจจะจัดทำเป็นปฏิทินปฏิบัติงานประกอบรวมทั้งแสดงระยะเวลาดำเนินการควบคู่ไปด้วย
 ระยะเวลาในการดำเนินการ เป็นการระบุระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการโดยระบุเวลาที่ใช้เริ่มต้นตั้งแต่วัน เดือน ปี  และสิ้นสุดหรือแล้วเสร็จใน วัน เดือน ปีอะไร
๑๐. สถานที่ดำเนินการ
 คือสถานที่ บริเวณ พื้นที่ อาคาร ที่ใช้จัดกิจกรรมตามโครงการ
 ๑๑. งบประมาณ  หรือค่าใช้จ่ายการดำเนินงานตามโครงการต้องใช้งบประมาณหรือค่าใช้จ่ายที่ระบุถึงจำนวนเงิน  จำนวนวัสดุ  ครุภัณฑ์  หรือจำนวนบุคคล และปัจจัยอื่นที่จำเป็นต่อการดำเนินการ  สำหรับงบประมาณ ควรระบุให้ชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างเป็นข้อๆ๑๒. การประเมินผลโครงการ
   เป็นการประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการ ซึ่งต้องระบุวิธีการประเมินผลให้ชัดเจนว่าจะประเมินโดยวิธีใด  อาจเขียนเป็นข้อ ๆ หรือเขียนรวม ๆ กันก็ได้ เช่น จากการสังเกต จากการตอบแบบสอบถาม (ควรระบุว่าใครเป็นผู้ประเมิน)  เป็นต้น
๑๓. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เป็นการกล่าวถึงผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากความสำเร็จของโครงการ  เป็นการคาดคะเนผลที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติโครงการ  ซึ่งผลที่ได้รับต้องเป็นไปในทางที่ดี ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพนอกจากโครงการจะมีส่วนประกอบสำคัญ  13  ประการ  ตามที่กล่าวมาแล้วการเขียนโครงการอาจจะมีส่วนประกอบเพิ่มเติมอีกได้เช่นปัญหาและอุปสรรคข้อเสนอแนะผู้เขียนโครงการ ผู้อนุมัติโครงการ เป็นต้น
 
ลักษณะของโครงการที่ดี
โครงการเป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้น  เพื่อการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการที่ดีย่อมมีผลตอบแทนหน่วยงาน  หรือองค์การอย่างคุ้มค่า  ลักษณะของโครงการที่ดีมีดังต่อไปนี้
๑. สามารถแก้ปัญหาองค์กร  หรือหน่วยงานได้
๒. มีประสิทธิภาพ  และก่อให้เกิดผลตอบแทนคุ้มค่า
๓. รายละเอียดของโครงการต้องสอดคล้อง และสัมพันธ์กัน
๔. วัตถุประสงค์  และเป้าหมายต้องชัดเจน  และมีความเป็นได้สูง
๕. สามารถสนองความต้องการขององค์กร  และหน่วยงานได้อย่างดี
๖. สามารถนำไปปฏิบัติได้สอดคล้องกับแผนงาน
๗. กำหนดขึ้นจากข้อมูลที่มีความเป็นจริง   และได้รับการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ
๘. ต้องได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากร  หรือค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม
๙. ต้องมีระยะเวลาการดำเนินโครงการชัดเจน

ประเภทของโครงการ

      โครงการ  แบ่งออกได้หลายประเภทตามความต้องการ   และความเหมาะสม  ได้แก่
แบ่งตามระยะเวลา เช่นโครงการระยะสั้น โครงการระยะยาว หรือแบ่งตามความสำคัญ  เช่นโครงการหลักโครงการเสริมเป็นต้น แต่ที่นิยมกันโดยทั่วไปมักจะแบ่งประเภทของ
โครงการตามลักษณะของผู้เสนอโครงการ  ดังต่อไปนี้
๑.  โครงการที่เสนอโดยตัวบุคคล  หมายถึง  โครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ทั้งนี้อาจเป็นความคิดริเริ่มของตัวผู้เขียนโครงการเองหรือได้รับการมอบหมายจากผู้อื่น
ให้เป็นผู้เขียนโครงการก็ได้
๒. โครงการที่เสนอโดยกลุ่มบุคคล  หมายถึง โครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยบุคคลมากกว่า 2 คนขึ้นไป
ที่มีความเห็นพ้องต้องกันในวัตถุประสงค์  วิธีการ  และมีเจตนาที่จะทำงานร่วมกันซึ่งส่วนประกอบของโครงการจะต้องได้รับการอภิปรายจนเป็นที่พอใจของกลุ่มการเขียนโครงการโดยกลุ่มบุคคลมีผลดีเพราะนอกจากจะได้รับประสบการณ์จากการเขียนโครงการแล้ว  ยังได้มีการประชุม อภิปราย แสดงความคิดเห็น และการใช้เหตุผลพร้อมกับการเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ  ดังนั้น โครงการนำเสนอโดยกลุ่มบุคคลจึงมีความสมบูรณ์  และรัดกุมมากกว่าการเขียนโครงการโดยตัวบุคคล
๓. โครงการที่เสนอโดยหน่วยงาน หมายถึง โครงการที่อาจจะเริ่มโดยตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคลก็ได้ แต่เป็นโครงการที่ดำเนินการในนามของหน่วยงาน  ซึ่งหมายความว่าทุกคนในหน่วยงานนั้นจะต้องเห็นด้วย และร่วมกันรับผิดชอบ  โครงการที่เสนอโดยหน่วยงานจึงจัดเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องประสานงาน  และร่วมมือกันทุกฝ่าย นับว่าเป็นโครงการที่มีความสมบูรณ์มากกว่าโครงการประเภทอื่น
 การใช้ถ้อยคำ   สำนวนในการเขียนโครงการผู้เขียนโครงการต้องมีความรู้  ความเข้าใจในเรื่องการใช้ถ้อยคำ สำนวนภาษาเป็นอย่างดี เพราะโครงการจะบรรลุเป้าหมาย  หรือประสบผลสำเร็จขึ้นอยู่กับการใช้ถ้อยคำภาษาเป็นสำคัญ ถ้าใช้ถ้อยคำภาษาถูกต้องชัดเจน สละสลวย ย่อมสื่อความหมายได้ง่าย และรวดเร็วดังนั้นผู้เขียนโครงการจึงต้องรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. ใช้ภาษาให้ถูกต้อง คือ ใช้ให้ถูกต้องตรงตามความหมาย  และเขียนให้ถูกต้องตามอักษรวิธี
ทั้งตัวพยัญชนะ  สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด และการันต์
๒. ให้ภาษาให้กะทัดรัด  คือ ใช้ถ้อยคำกระชับ รัดกุม ไม่เยิ่นเย้อ  ยืดยาว
ประหยัดถ้อยคำ แต่ต้องได้ใจความสมบูรณ์
๓. ให้ภาษาให้ชัดเจน  คือ ใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงไปตรงมา หรือตรงตามตัวทำให้ผู้รับสารเข้าใจทันที   ไม่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ หรือกำกวม
๔. ใช้ภาษาให้เหมาะสม  คือใช้ภาษาให้เหมาะสมกับเนื้อความ หรือเหมาะสมกับกาลเทศะ
๕. ใช้ภาษาให้สุภาพ  คือใช้ภาษาเขียน เป็นภาษาที่มีแบบแผน  ไม่ใช้ภาษาพูดในการเขียนโครงการ



1 ความคิดเห็น: