วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๕ การพูดในงานสังคม

การพูดหมายถึงการติดต่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์โดยใช้เสียงภาษา,แววตา,สีหน้า,ท่าทางต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากผู้พูดไปยังฟังให้เป็นที่เข้าใจ
งานสังคมคืองานเพื่อการพบปะสังสรรค์หรือทำกิจกรรมร่วมกันของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ กันโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญร่วมกัน
ดังนั้นความหมายของการพูดในงานสังคมจึงมีความหมายว่าการติดต่อสื่อสารกันที่เกี่ยวข้องกับงานการ พบปะสังสรรค์หรือร่วมชุมนุมกันของกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง
ความสำคัญของการพูดในงานสังคม
                ในการเข้าสังคมนอกจากจะมีการติดต่อสื่อสารกันแล้วยังต้องมีกิจกรรมต่างๆที่กระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ที่กลุ่มคนนั้นๆได้ตั้งเป้าหมายไว้ฉะนั้นการพูดจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มชนเป็น ในทางที่ดีและดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ตรงตามวัตถุประสงค์ความสำคัญของการพูดในงานสังคมพอจะสรุปได้โดย สังเขปดังนี้
๑.สร้างบรรยายกาศในการดำเนินกิจกรรม
๒.กระชับความสัมพันธ์ภายในหมู่คณะ
๓.สร้างความมั่นคงให้กับองค์กร
มายาทของการพูดในงานสังคม
              โดยทั่วไปแล้วการพูดไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดผู้พูดก็ควรยึดหลักในการคำนึงถึงมารยาทในการพูดเพราะเหตุ ที่ว่ายิ่งผู้พูดมีมารยาทในการพูดมากเท่าใดก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้พูดสนใจและให้เกียรติผู้ฟังมากขึ้นเท่านั้น มารยาทของการพูดในงานสังคมมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
๑.มารยาทในการแต่งกาย
๒.มารยาทในการใช้ภาษา
๓.มารยาทในการแสดงออก
๔.มารยาทในการทักทายผู้ฟัง
 ประเภทของการพูดในงานสังคม
                 ในปัจจุบันกิจกรรมต่างๆที่กลุ่มคนในสังคมจัดขึ้นมีมากมายเช่นงานเลี้ยงเพื่อแสดงความยินดีในวันเกิด,วันมงคลสมรส งานเลี้ยงต้อนรับ,งานเปิดกิจการห้างร้านใหม่นอกจากนี้ยังมีงานที่จัดขึ้นเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการใดวงการหนึ่ง เช่นงานแสดงนิทรรศการต่างๆงานที่เกี่ยวกับกิจกรรมวันสำคัญๆงานชุมนุมพบปะสังสรรค์เป็นต้นการพูดจึงมีส่วน สำคัญที่จะช่วยให้งานหรือกิจกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นประสบผลสำเร็จบรรลุจุดมุ่งหมายได้การพูดในงานสังคมนั้น สามารถจัดประเภทได้ ดังนี้
๑.พูดแสดงความยินดี
๒.พูดแสดงความอาลัย
๓.พูดแสดงความขอบคุณ
๔.พูดในโอกาสพิเศษ
๕.พูดเพื่อให้เกียรติ
 การพูดแสดงความยินดี
                 การพูดเพื่อแสดงความยินดีมักนำไปใช้กับงานหรือเรื่องที่น่ายินดีต่างๆเช่นในงานมงคล,งานวันเกิด,งานขึ้นบ้านใหม่ การกล่าวอวยพรเป็นการพูดที่ผู้พูดมักใช้ถ้อยคำที่ไพเราะเสนาะหูเพื่อสร้างความประทับใจและมักจะมีคำอวยพร เพื่อมอบความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ฟังหรือผู้เป็นเจ้าของงานการพูดเพื่อแสดงความยินดีมักใช้โอกาสต่อไปนี้
๑.กล่าวอวยพรวันเกิด
๒.กล่าวอวยพรวันมงคลสมรส
๓.กล่าวอวยพรในงานขึ้นบ้านใหม่หรือเปิดกิจการใหม่
๔.กล่าวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
๕.กล่าวต้อนรับสมาชิกใหม่
๖.กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสได้รับรางวัลหรือเกียรติยศ
การพูดเพื่อแสดงความอาลัย
               การพูดเพื่อแสดงความอาลัยมักนำไปใช้กับงานที่เกี่ยวกับการสูญเสียหรือเกิดการพลักพรากจากกันไปเนื่องจาก ย้ายสถานที่ทำงานย้ายไปรับตำแหน่งใหม่การกล่าวหรือพูดกันในงานเหล่านี้มักจะใช้เรียกกันว่าการกล่าวอำลา เป็นการพูดที่ผู้พูดมักใช้คำพูดแสดงความอาลัยรักสถานที่หรือผู้ที่เคยใกล้ชิดเคยร่วมงานกันมาก่อนและมีเหตุอันทำ ให้ต้องจากสถานที่หรือบุคคลที่เคยอยู่ร่วมกันหรือเคยร่วมงานกันมาก่อนการใช้ถ้อยคำและการแสดงความรู้สึกของ ผู้พูดย่อมแตกต่างกันกับการพูดแสดงความยินดีการพูดเพื่อแสดงความอาลัยมักใช้ในโอกาสต่อไปนี้
๑.กล่าวไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์
๒.กล่าวในพิธีอำลาเนื่องในโอกาสย้ายไปรับตำแหน่งใหม่
๓.กล่าวในพิธีอำลาในโอกาสที่มีการย้ายสถานที่ทำงาน
๔.กล่าวในงานพิธีเกษียณอายุราขการ
๕.กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ
การพูดแสดงความขอบคุณ
              การพูดเพื่อแสดงความขอบคุณนับเป็นการแสดงมารยาททางสังคมอย่างหนึ่งใช้ในกรณีที่ต้องการจะแสดงความขอบคุณ เพื่อตอบแทนไมตรีจิตของผู้ที่มาร่วมงานหรือต้องการจะแสดงความขอบคุณผู้ที่ทำคุณประโยชน์ด้านต่างๆให้หรือ ขอบคุณผู้ที่มอบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เพื่อเป็นรางวัลการพูดแสดงความขอบคุณมักใช้ในโอกาสต่อไปนี้
๑.กล่าวตอบขอบคุณคำอวยพร
๒.กล่าวขอบคุณแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน
๓.กล่าวขอบคุณในงานเลี้ยง
๔.กล่าวขอบคุณในงานเลี้ยงอำลา
๕.กล่าวตอบขอบคุณในงานรับมอบสิ่งของ
การพูดในโอกาสพิเศษ
                  การพูดในโอกาสพิเศษเป็นการพูดที่สร้างความจรรโลงให้แก่ผู้ฟังผู้พูดจะต้องอาศัยและทักษะและความ สามารถทางภาษาเป็นพิเศษเป็นการพูดทีทมีการร่างถ้อยคำที่ใช้สำหรับพูดไว้ผู้พูดมักจะแสดงให้เห็นความน่า ชื่นชมของความคิดการกระทำหรือเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยถ้อยคำที่สละสลวยไพเราะ,น่าฟังหากผู้พูดสามารถ ยกอุทาหรณ์หรือเหตุผลต่างๆได้ลึกซึ่งน่าฟังก็จะยิ่งทำให้ผู้ฟังคิดตามเรื่องที่พูดอย่างตั้งอกตั้งใจจึงทำให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ในการฟังการพูดที่มักใช้ในโอกาสพิเศษมีดังนี้
๑.การกล่าวสุนทรพจน์
๒.การกล่าวคำปราศรัย
๓.การกล่าวให้โอวาท
๔.การกล่าวมอบสิ่งของ
๕.การกล่าวรายงานการจัดงาน
๖.การกล่าวเปิดงาน
การพูดเพื่อให้เกียรติ
                  การพูดเพื่อให้เกียรติเป็นการพูดที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อให้สาธารณชนได้รู้จัก หรือรับทราบเกี่ยวกับบุคคลนั้นในด้านดีอาจแนะนำเพียงแต่ชื่อนามสกุลวิทยฐานะความรู้ความสามารถและ ประสบการณ์หรือในกรณีที่เป็นผู้กระทำคุณความดีก็จะกล่าวยกย่องหรือประกาศเกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฎแก่ สาธารณชนเพื่อเป็นแบบอย่างแนวทางที่ดีในการประพฤติดีในการประพฤติปฏิบัติต่อไปการพูดเพื่อให้เกียรติมัก ใช้ในโอกาสต่อไปนี้
๑.การกล่าวแนะนำบุคคลต่อหน้สที่ประชุมชน
๒.การกล่าวประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านต่างๆ
๓.การกล่าวสดุดีแก่ผู้สร้างวีรกรรมอันนำมาซึ่งชื่อเสียงของประเทศชาติ
  หลักทั่วไปของการพูดในงานสังคม
                 การพูดในงานสังคมมักใช้ในโอกาสที่ต่างกันออกไปรูปแบบของงานก็มีทั้งที่คล้ายกันและแตกต่างกันออกไปบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดงานฉะนั้นผู้พูดจึงควรคำนึงหลักโดยรวมของการพูดในงานสังคมดังนี้
๑.คำนึงถึงโอกาสที่พูดเป็นสำคัญเพราะสถานการณ์ในการพูดย่อมแตกต่างกันไปตามวาระโอกาสที่พูด เช่นงานเลี้ยงที่มีบรรยากาศสนุกสนานรื่นเริงเป็นกันเองหรืองานเลี้ยงที่ค่อนข้างเป็นพิธีกรวิธีการพูดและการ แสดงออกของผู้พูด
๒.วิเคราะห์ผู้ฟังเพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหาสาระได้เหมาะสมใช้ภาษาและถ้อยคำได้เหมาะสมกับเพศวัยและความรู้ ของผู้ฟังแสดงมารยาทในการทักทายได้ถูกต้อง
๓.เตรียมการพูดการพูดไม่ว่าจะมีเวลาเตรียมตัวมากหรือน้อยเพียงใดผู้พูดก็จะต้องเตรียมการพูดโดยยึดหลักสำคัญๆ คือเตรียมคำกล่าวนำหรือคำขึ้นต้นเนื้อหาและบทสรุป
๔.เลือกถ้อยคำและภาษาที่ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ฟังเช่นการนำสำนวนโวหารกรือสุภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง มากล่าวอ้างเพื่อประกอบคำพูด
๕.พูดให้มีเสียงดังฟังชัดไม่เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปพูดให้มีจังหวะพอเหมาะเพราะท่วงทำนองการพูดที่น่าฟังนั้นจะช่วย ให้ผู้ฟังไม่เกิดความรำคัญ
๖.แสดงมารยาทในการพูดให้เหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบการพูดลงไปโดยเฉพาะมารยาทในการทักทายผู้ฟังก่อน การเริ่มต้นพูดหรือจบการพูดโดยกล่าวปิดท้ายตามธรรมเนียมไทยคือกล่าวสวัสดีหรือขอบคุณแล้วแต่ความเหมาะสม
๗.ใช้เวลาให้เหมาะสมกับโอกาสการพูดบางอย่างควรรวบรัดภายใน๓-๔นาทีผู้พูดก็ไม่ควรพูดนานเกินไปทั้งนี้ควรใช้เวลาในการพูดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการพูด
 แนวทางการพูดในโอกาสต่างๆ
                     การพูดในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นนอกจากจะสื่อความรู้ความเข้าใจเรื่องราวต่างๆแล้วยังต้องสื่ออารมณ์ ความรู้สึกถ่ายทอดไปสู่กันและกันด้วยฉะนั้นการพูดจากันนอกจากจะพูดคุยกันตามปกติแล้วยังมีการพูดในโอกาสพิเศษ เช่นการพูดในงามมงคลงานศพการเข้าสมาคมในโอกาสต่างๆจึงจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องฝึกฝนการใช้คำพูดให้ถูกต้องไพเราะเหมาะสม เหมาะกับเหตุการณ์ การพูดในโอกาสต่าง ๆ ที่ควรทราบ เช่น การพูดแนะนำ การพูดแสดงความยินดี การพูดแสดงความเสียใจ การกล่าวขอบคุณ การกล่าวต้อนรับ การพูดอวยพร การพูดสนทนาทางโทรศัพท์ การพูดเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ
๑. การพูดแสดงความยินดี
ในบางโอกาสผู้ที่เราพบปะหรือคุ้นเคยอาจจะประสบโชคดี มีความสมหวังหรือ มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและการงานเราควรจะต้องพูดแสดงความยินดีเพื่อร่วมชื่นชมในความสำเร็จนั้น
วิธีการ
๑) ใช้คำพูดให้ถูกต้องเหมาะสม
๒) ใช้น้ำเสียง ท่าทาง สุภาพ นุ่มนวล ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
๓) พูดช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ พูดสั้น ๆ ให้ได้ใจความและประทับใจ
ตัวอย่าง
ขอแสดงความยินดีกับคุณที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านในหมู่บ้านของเรา เลือกคุณด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นมาก ขอให้คุณเป็นผู้นำของพวกเรานาน ๆ สร้างความ เจริญแก่ชุมชนของพวกเราตลอดไปนะครับ ผมดีใจด้วยและขอสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ความสามารถเลยครับ

 ๒. การพูดแสดงความเสียใจ
                ในบางโอกาสญาติพี่น้องหรือคนที่เรารู้จักประสบเคราะห์กรรมผิดหวัง เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เป็นมารยาทที่ดีที่เราควรพูดปลอบใจให้กำลังใจแก่ผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้น หรือพูดปลอบใจแก่ญาติพี่น้องของผู้เคราะห์ร้ายนั้น เพื่อให้เขาเกิดกำลังใจต่อไป
วิธีการ
๑. พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องปกติ
๒. แสดงความรู้สึกห่วงใยร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
๓. พูดด้วยน้ำเสียงแสดงความเศร้าสลดใจ
๔. พูดด้วยวาจาที่สุภาพ
๕. ให้กำลังใจและยินดีที่จะช่วย
ตัวอย่าง
"ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งที่ทราบว่าคุณพ่อของคุณถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วนอย่างนี้ ท่านไม่น่าจากเราไปรวดเร็วเลยนะ ดิฉันเห็นใจคุณจริง ๆ ขอให้คุณทำใจดี ๆ ไว้ความตายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเลย จะให้ดิฉันช่วยอะไรก็บอกมาเลยไม่ต้องเกรงใจ ดิฉันยินดีช่วยด้วยความเต็มใจจริง ๆ นะคะ


๓. การพูดแนะนำ
                    การพบปะบุคคลซึ่งเคยรู้จักกันมาก่อนและบุคคลอื่น ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก่อนที่จะรู้จักกันย่อมจะต้องมีการแนะนำให้รู้จักกันเพื่อคุยเรื่องอื่นๆต่อไปการแนะนำให้รู้จัก กันมีทั้งการแนะนำ ตนเองและแนะนำผู้อื่น
การแนะนำตนเอง คือ การกล่าวถึงตนเองให้ผู้อื่นรู้จัก โอกาสในการแนะนำตนเองมีต่าง ๆ ดังนั้น
๑) ในการติดต่อกัน
๒) ในการประชุม ชุมนุมพิเศษหรืองานเลี้ยงต่าง ๆ
๓) ในฐานะเป็นสมาชิกใหม่ของชุมชนหรือสถาบัน
๔) ในการเข้าสอบสัมภาษณ์
๕) ในการไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
วิธีการพูดแนะนำตนเอง
๑) การกล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้
คำนำคือกล่าวทักทายผู้ฟังและอารัมภบทเช่นท่านประธานและท่านสุภาพชนทุกท่านท่านประธาน พิธีกรและเพื่อนสมาชิก
- ชื่อและนามสกุล
- ถิ่นกำเนิด
- การศึกษา
- ความรู้ความสามารถพิเศษ
- ตำแหน่งหน้าที่การงาน
- งานอดิเรก (ถ้ามี)
- หลักหรือแผนการในการดำเนินชีวิต
- ที่อยู่ปัจจุบันการกล่าวถึงจะมากน้อยหรือจะตัดเรื่องใดออกหรือพลิกแพลงอย่างไรขึ้นอยู่กับ
สถานที่บุคคลและโอกาสต่าง ๆ ดังกล่าว
๒) แทรกเรื่องราวของชีวิตที่เด่นที่สุด ประทับใจที่สุด หรือเรื่องที่ทำให้เรื่องราวมีรสชาติ น่าสนใจ และเป็นที่ประทับใจผู้ฟัง
๓) เรียบเรียงเรื่องราวให้สัมพันธ์กันโดยไม่สับสน การลำดับเรื่องราวเป็นเทคนิคเฉพาะตน
๔) ข้อความที่กล่าวจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่บุคคลและโอกาสด้วย

ตัวอย่างการแนะนำตนเองในที่ชุมนุมชน
ท่านประธาน และสมาชิกชมรมพัฒนาชีวิตทุกท่านดิฉันขอขอบคุณพิธีกรมากค่ะ ที่ให้โอกาสดิฉันได้แนะนำตัวเองดิฉันนางสาวสมศรีรัตนสุนทรเกิดไกลหน่อยคืออำเภอปัวจังหวัดน่านค่ะ มาอยู่กรุงเทพฯ นี่ ๔ ปีแล้ว โดยดิฉัน ทำงานเป็นพนักงานขาย ที่ร้านใบแก้ว ดิฉันเรียนจบชั้นมัธยมปีที่สามที่โรงเรียนใกล้บ้านนั่นเองค่ะความที่เป็นคนช่างพูดหลังจากจบแล้วเพื่อนชวนมาทำงานที่ถูกกับนิสัยก็เลยมา และเนื่องจากดิฉันไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ จึงเห็นว่าการศึกษาทางไกลนี้จะช่วยให้ดิฉัน
พัฒนาชีวิตได้ดียิ่งขึ้นแทนการศึกษาในโรงเรียน จึงสมัครเป็นสมาชิก และต่อไปจะตั้งใจเรียน และร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรมค่ะ ปัจจุบันดิฉันพักอยู่ที่ร้านที่ดิฉันทำงานนั่นแหละค่ะถ้ามีเรื่องใดจะให้ทำติดต่อได้ที่ร้านนั่นเลยสำหรับที่อยู่ของร้าน มีอยู่ในทะเบียนบัญชีรายชื่อ นักศึกษาแล้วค่ะ สวัสดีค่ะ
การแนะนำผู้อื่น คือ การแนะนำบุคคลที่ ๓ ให้บุคคลที่ ๒ รู้จักในโอกาสต่าง เช่นเดียวกับการแนะนำตนเอง
วีการแนะนำผู้อื่น

ใช้หลักการอย่างเดียวกับการแนะนำตนเองและคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้เพิ่มเติมคือ
๑) แนะนำสั้น ๆ
๒) แนะนำเฉพาะเรื่องที่เป็นปมเด่น เรื่องที่เป็นปมด้อยหรือเรื่องที่ไม่เหมาะสมไม่ควรกล่าวถึง เรื่องที่แนะนำควรได้รับอนุญาตจากผู้ถูกแนะนำก่อน
๓) การแนะนำระหว่างสุภาพบุรุษกับสุภาพสตรี ต้องแนะนำให้สุภาพบุรุษรู้จักสุภาพสตรี โดยกล่าวนามสุภาพสตรี เช่น คุณสุดาครับ นี่คุณพนัส รักความดี สมุห์บัญชีธนาคารออมสินสาขานนทบุรี คุณพนัส นี่คุณสุดา มณีแก้วครับ สมุห์บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขานนทบุรีในการแนะนำ ถ้าสุภาพบุรุษนั่งอยู่ควรยืนขึ้น แต่สุภาพสตรีถ้านั่งอยู่และได้รับการแนะนำไม่ต้องยืน ถ้าเป็นการแนะนำหลายคนจะนั่งลงเมื่อแนะนำครบทุกคนแล้ว
๔) แนะนำผู้อ่อนอาวุโสให้รู้จักผู้อาวุโส โดยเอ่ยนามผู้อาวุโสก่อน เช่น คุณแม่คะ นี่น้องเพื่อนของลูก” “ผู้จัดการคะ นี่คุณสมพงษ์ ใจซื่อ ประชาสัมพันธ์โรงแรมลานทองค่ะคุณสมพงษ์คะนี่คุณสวัสดิ์เรืองรองผู้จัดการบริษัทสมบูรณ์ที่คุณต้องการพบค่ะในเรื่องอาวุโสถือตามวัยวุฒิ บางโอกาสถือตามตำแหน่งหน้าที่การงานผู้แนะนำต้องคำนึงตามโอกาสให้เหมาะด้วย
๕) การแนะนำบุคคลต่อที่ประชุมหรือชุมชนต่าง ๆ เอ่ยถึงกลุ่มชนก่อน เช่นท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผู้พูดช่วงเวลาต่อไปนี้คือ คุณปราโมทย์ พงษ์ทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยนานา ท่านจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และจบปริญญาโททางด้านบริหารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันประสบการณ์ของท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยนานาและทำหน้าที่บริหารงานมา ๕ ปีแล้วผลิตบัณฑิตจนถึง ๔ รุ่น วันนี้ท่านสละเวลาให้เกียรติมาบรรยายเรื่องการศึกษากับการพัฒนาชนบทเชิญท่านรับฟังแนวคิดของวิทยากรได้แล้วครับ
๖) การแนะนำบุคคลรุ่นเดียวกัน เพศเดียวกัน จะแนะนำใครก่อนหลังก็ได้ข้อปฏิบัติสำหรับการแนะนำเมื่อผ่านการแนะนำแล้ว ผู้อ่อนอาวุโสยกมือไหว้ผู้อาวุโส และผู้อาวุโสกว่ารับไหว้ ถ้าอาวุโสเท่าเทียมกันก็ยกมือไหว้พร้อมกัน แต่ปัจจุบันมักก้มศีรษะให้แก่กันพอเป็นพิธีก็ได้ การแนะนำในที่ประชุมเมื่อผู้รับการแนะนำต่อที่ประชุมถูกเอ่ยชื่อ ควรยืนขึ้นคารวะต่อ ที่ประชุมและที่ประชุมปรบมือต้อนรับ


๔. การกล่าวขอบคุณ
การกล่าวขอบคุณอาจใช้ได้หลายโอกาสเช่นการกล่าวขอบคุณเมื่อผู้พูดหรือวิทยากรพูดจบกล่าวขอบคุณเมื่อมีผู้กล่าวต้อนรับ กล่าวขอบคุณผู้มาร่วมงานหรือในกิจกรรมกล่าวขอบคุณเมื่อมีผู้มอบของขวัญหรือของที่ระลึกขอบคุณแต่ละโอกาสดังต่อไปนี้
๔.๑การกล่าวขอบคุณผู้พูดเมื่อผู้พูดพูดจบลงผู้กล่าวขอบคุณหรือผู้ที่ทำหน้าที่พูดแนะนำควรจะกล่าวสรุปเน้นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการพูดครั้งนี้อย่างสั้น ๆ แล้วจึงกล่าวขอบคุณ
๔.๒การกล่าวขอบคุณเมื่อมีผู้กล่าวต้อนรับหรือการกล่าวตอบรับเมื่อผู้กล่าวต้อนรับพูดจบแล้วผู้กล่าวตอบรับควรจะกล่าวตอบในลักษณะที่แสดงความรู้สึกที่มีต่อการต้อนรับ และเนื้อหา ในการกล่าวตอบรับจะต้อง สอดคล้องกับการกล่าวต้อนรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความสัมพันธ์ อันดีของทั้งสองฝ่ายที่มีต่อกัน ผู้กล่าวขอบคุณควรจะเน้นจุดสำคัญ และกล่าวเชื้อเชิญให้ผู้ต้อนรับ ไปเยือนสถานที่ของตนบ้าง
๔.๓การกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมในงานหรือในกิจกรรมในการกล่าวขอบคุณผู้มาร่วมในงานหรือในกิจกรรมนั้นควรแสดงไมตรีจิตต่อแขกที่มาร่วมในงานแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจ และกล่าวขออภัยในความบกพร่อง ของกิจกรรมที่จัดขึ้น
๔.๔ การกล่าวขอบคุณหรือตอบรับเมื่อมีผู้มอบของขวัญหรือของที่ระลึก ผู้กล่าวตอบรับควรจะได้แสดงความชื่นชมในสิ่งของที่ได้รับมอบและกล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้รับ มอบสิ่งของนั้นแล้ว

วิธีการกล่าวขอบคุณ
๑)การขอบคุณการพูดหรือขอบคุณใช้ในโอกาสที่มีผู้อื่นได้ช่วยเหลือหรือมีบุญคุณแก่เราถือว่าเป็นมารยาทที่จะต้องแสดงความยินดีและกล่าวขอบคุณในน้ำใจของเขา คือ เป็นการแสดงออกถึงการรู้คุณผู้อื่น เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามที่ควรรักษาไว้อย่างยิ่ง
๑. คำว่า ขอบใจ นิยมใช้พูดเพื่อแสดงความขอบใจแก่คนที่มีอายุน้อยกว่าเราเช่นพี่ขอขอบใจน้องมาก
ที่ช่วยยกกระเป๋าให้
๒. คำว่า ขอบคุณ นิยมใช้พูดเพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับผู้ที่เสมอกันหรือผู้ที่มีอาวุโสกว่าผู้พูด เช่น
ผมขอขอบคุณคุณนิคมมากที่มาส่งผมที่สถานีรถไฟวันนี้
๓. หากต้องการยกย่องเทิดทูนผู้ที่ตนเคารพนับถือมาก ที่ท่านกรุณาช่วยเหลือเรา หรือให้สิ่งใดแก่เราก็ควรกล่าวว่า ขอบพระคุณ เช่น
ลูกขอกราบขอบพระคุณคุณพ่อคุณแม่มากที่ซื้อของมาฝาก
๔. ควรพูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ชวนฟัง สุภาพ ไม่รีบร้อนจนเกินไป
๕. ควรแสดงท่าทางที่เป็นมิตร นอบน้อม มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
๖. ควรพูดให้ผู้ฟังรู้สึกว่า เราซาบซึ้งในพระคุณและจะพยายามหาโอกาสที่จะตอบแทนในโอกาสต่อไป
๗. หากเป็นการกล่าวขอบคุณในนามตัวแทน หมู่คณะ ควรพูดให้ชัดเจนว่า กล่าวขอบคุณในนามของหมู่คณะใด เนื่องในโอกาสอะไร ขอบคุณใคร พูดให้สั้น กะทัดรัดได้ความดี
๘. โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นการขอบคุณผู้ที่เคารพนับถือ หรือผู้มีอาวุโสมากกว่าเราการกล่าวขอบคุณมักจะกล่าวพร้อม ๆ กับยกมือไหว้ด้วยเสมอ

ตัวอย่างการกล่าวขอบคุณ
๑) การกล่าวขอบคุณผู้มีอาวุโสกว่า
ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของท่านกำนันเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบโต๊ะเก้าอี้จำนวน๑๐ชุดแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ นับเป็นบุญกุศลอันดียิ่งที่เด็กๆจะได้มีโต๊ะเก้าอี้พอเพียงแก่การศึกษาเล่าเรียนดิฉันและเด็กๆมีความยินดีในเมตตาจิตของ ท่านกำนันเป็นอย่างมาก จึงขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาของท่านกำนัน ไว้ ณ ที่นี้ขอกราบขอบพระคุณค่ะ (พูดจบพร้อมกับยกมือไหว้)
๒) การกล่าวขอบคุณในนามหมู่คณะบุคคล
ผมในนามผู้นำชาวบ้านท่าเวียงขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงต่อท่านนายอำเภอตลอดจนเจ้าหน้าที่จากอำเภอทุกท่านที่ได้มาบริการ
ความสะดวกสบายแก่ประชาชนในบ้านท่าเวียงโดยการนำอำเภอเคลื่อนที่มาบริการวันนี้หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่องในการต้อน
รับขับสู้ผมและชาวบ้านก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยผมและชาวบ้านทุกคนรู้สึก ซาบซึ้งและยินดีในความกรุณาของท่านนายอำเภอและ
เจ้าหน้าที่ทุกท่านผมในนามชาวบ้านท่าเวียงไม่มีสิ่งใดจะตอบแทนนอกจากจะขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ (ยกมือไหว้)

๕. การกล่าวอวยพร
การพูดอวยพรมักใช้ควบคู่ไปกับการแสดงความยินดีหรือแสดงความปรารถนาดีเพราะก่อนจะอวยพรมักต้องแสดงความยินดีมาก่อน หรือถ้าเป็นการกล่าวแสดงความยินดีโดยแท้จริงก็มักลงท้ายด้วยการอวยพรการอวยพรมีหลายโอกาส เช่น ในงานมงคลสมรส งานวันเกิด งานวันปีใหม่ขึ้นบ้านใหม่ ตลอดจนการอวยพรของผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งมักเรียกว่า อำนวยพร (อำนวยอวยพร อวยชัยให้พร ให้ศีลให้พร) แก่ลูกหลาน ลูกศิษย์ ผู้ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ ข้อปฏิบัติโดยทั่วไปในการพูดอวยพรมีดังนี้
๑) พูดด้วยท่าทีร่าเริงเป็นการแสดงความยินดีไปในตัว
๒) เริ่มต้นด้วยเสียงค่อนข้างดังเล็กน้อย เป็นการเรียกความสนใจเพราะงานชนิดนี้ มักมีเสียงรบกวนมาก ข้อความตอนต้นควรเป็นใจความง่าย ๆ สั้น ๆ
๓) ควรดำเนินเรื่องให้เป็นไปตามความเหมาะสม เช่น ถ้าเป็นงานวันเกิด ควรกล่าวถึงความสำคัญในวันเกิด แล้วจึงพูดถึงคุณงามความดี และเกียรติคุณของเจ้าภาพตามสมควร ถ้าเป็นการแต่งงาน ควรเริ่มด้วยการบอกกล่าว ถึงความสัมพันธ์ของท่านกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายถ้าผู้พูดรู้จักทั้งคู่ถ้ามีประสบการณ์มากพอควรให้ข้อคิดในชีวิตการสมรส แล้วกล่าวแสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้สมรสกัน อันจะเป็นการก่อสร้างรากฐาน เป็นครอบครัวที่ดีต่อไป
๔) ลงท้ายด้วยการกล่าวคำอวยพร ขอให้มีความสุขความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไปการพูดอวยพรถือเป็นการพูดในงานมงคล ไม่ควรจะให้มีถ้อยคำซึ่งไม่น่าปรารถนา (ไม่เป็นมงคล) ในคำกล่าว เช่น ในงานวันเกิด ไม่ควรมีคำว่า ตาย” “แก่” “เจ็บป่วยฯลฯ ในงานสมรสไม่ควรมีคำว่า แต่งงานใหม่ฯลฯ อยู่ด้วยจะดีมาก ไม่ควรพูดยืดยาว ซ้ำซาก ควรทักทายที่ประชุมให้ถูกต้องตามลำดับ คำขึ้นต้นควรให้เร้าความสนใจตอนจบใช้ถ้อยคำ ให้ประทับใจ ในเรื่องจะกล่าวถึง การกล่าวอวยพรเฉพาะงานมงคลที่ใช้กันอยู่เสมอ คือ
๕.๑ การกล่าวอวยพรในงานมงคลสมรส การกล่าวในพิธีมงคลสมรส จะใช้เวลาไม่เกิน ๑๐ นาที โดยปกติจะใช้เวลา ๕ ๗ นาที นิยมพูดปากเปล่า ซึ่งมีหลักการกล่าวที่ควรยึดเป็นแนวปฏิบัติ ดังนี้
๑) กล่าวคำปฏิสันถาร
๒) กล่าวถึงความรู้สึกว่าเป็นเกียรติที่ได้ขึ้นมาอวยพร
๓) ความสัมพันธ์ของผู้พูดกับคู่บ่าวสาว
๔) ให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตและการครองรัก
๕) อวยพรและเชิญชวนให้ดื่มอวยพร

๕.๒ การกล่าวอวยพรในวันขึ้นปีใหม่ การกล่าวคำอวยพรในวันขึ้นปีใหม่มักจะพูดปากเปล่า โดยมีหลักที่ควรยึดเป็นแนวปฏิบัติในการกล่าวดังนี้
๑) กล่าวคำปฏิสันถาร
๒) กล่าวถึงชีวิตในปีเก่าที่ผ่านมา
๓) กล่าวถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในปีใหม่
๔) อวยพร
๕.๓การกล่าวอวยพรวันคล้ายวันเกิดการกล่าวในพิธีดังกล่าวนิยมพูดปากเปล่ามีหลักการที่ควรยึดเป็น แนวการปฏิบัติในการกล่าวดังนี้

๑) คำปฏิสันถาร
๒) กล่าวรู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสกล่าวคำอวยพร
๓) การสร้างคุณงามความดี หรือพูดถึงความสัมพันธ์ที่ผู้พูดมีต่อท่านผู้นั้น
๔) การเป็นที่พึ่งของบุตรหลาน
๕) อวยพรให้มีความสุข

วิธีการกล่าวอวยพร มีข้อปฏิบัติที่ควรจำดังนี้
๑.ควรกล่าวถึงโอกาสและวันสำคัญนั้นๆที่ได้มาอวยพรว่าเป็นวันสำคัญอย่างไรในโอกาสดีอย่างไร มีความหมายแก่เจ้าภาพหรือการจัดงานนั้น อย่างไรบ้าง
๒. ควรใช้คำพูดที่สุภาพ ไพเราะ ถูกต้อง เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟัง
๓. ควรกล่าวให้สั้น ๆ ใช้คำพูดง่าย ๆ ฟังเข้าใจดี กะทัดรัด กระชับความ น่าประทับใจ
๔.ควรกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้อวยพรกับเจ้าภาพกล่าวให้เกียรติชมเชยในความดีของเจ้าภาพและ
แสดงความปรารถนาดีที่มีต่อเจ้าภาพ
๕. ควรใช้คำพูดอวยพรให้ถูกต้อง หากเป็นการอวยพรผู้ใหญ่นิยมอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือมาประทานพร

ตัวอย่างการกล่าวอวยพรวันเกิด
วันนี้เป็นวันอันเป็นมงคลยิ่งคือวันเกิดของหลานรักของลุงลุงมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่เห็นหลานโตวันโตคืน ตลอดเวลา๑๐กว่าปีที่ผ่านมาลุงเฝ้าดูความเจริญ ของหลาน ด้วยความชื่นใจ มาวันนี้ครบรอบวันเกิดปีที่ ๑๑ แล้วลุงขอให้หลานรัก
มีแต่ความสุข ความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน เป็นที่รักของปู่ย่าตายายตลอดไป
ตัวอย่างการอวยพรคู่บ่าวสาว
สวัสดี……ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านผมรู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ที่ได้รับเกียรติ จากเจ้าภาพให้ขึ้นมากล่าวในวันนี้ ผมขอกล่าวจากความรู้สึกที่ได้มา พบเห็นงานมงคลสมรสในวันนี้ ผมประทับใจมากที่ได้เห็นใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ทั้งคู่มีความเหมาะสมกันดีมาก ทั้งผมเองก็เป็นผู้ที่เคย ทำงานร่วมกันมาทั้งสองคน รู้สึกชอบพออัธยาศัยเป็นอย่างดีและ เห็นว่าทั้งคู่ มีความเข้าอกเข้าใจ ซื่อสัตย์ รักมั่นต่อกันมานานปี เมื่อมางานมงคลสมรสครั้งนี้
จึงมีความปลื้มปีติเป็นอย่างมากที่ทั้งสองมีความสมหวังสมปรารถนาด้วยกัน ผมหวังว่าทั้งสองจะครองรักกันให้มั่นคงจีรังได้นานแสนนาน จึงขออวยพรให้คู่บ่าวสาว จงรักกัน เข้าใจกัน ทะนุถนอมน้ำใจ มีความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกันและรู้จักให้อภัยต่อกัน ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขทุกคืนทุกวัน สวัสดีครับ

 ๖. การกล่าวต้อนรับ
                ในโอกาสที่มีผู้มาใหม่เช่นเจ้าหน้าที่ใหม่นักศึกษาใหม่หรือผู้ที่มาเยี่ยมเพื่อพบปะชมกิจการในโอกาสเช่นนี้จะต้องมีการกล่าวต้อนรับ เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีและแสดง ความยินดี ผู้กล่าวต้อนรับควรเป็นผู้มีฐานะ มีเกียรติเหมาะสมกับฐานะผู้มาเยือน ถ้าเป็นการ กล่าวต้อนรับนิสิตหรือนักศึกษาใหม่ก็มุ่งหมายที่จะให้ความอบอุ่นใจ และให้ทราบถึง สิ่งที่ควรปฏิบัติร่วมกันในสถานศึกษานั้น ๆ เป็นต้น การกล่าวต้อนรับควรยึดแนวปฏิบัติดังนี้
๖.๑ เริ่มด้วยการกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้มาใหม่ (ผู้มาเยี่ยม หรือผู้มาร่วมงาน)
๖.๒ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการเยี่ยมเยือน เพื่อให้เห็นว่าฝ่ายต้อนรับนั้นเห็นความสำคัญของการเยี่ยม ถ้าเป็นผู้ร่วมงาน ก็ควรกล่าวถึงหน้าที่การงาน กิจการในปัจจุบันที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้มาใหม่ ถ้าเป็นนิสิตหรือนักศึกษาใหม่ ก็ควรชี้ให้เห็นคุณค่าและความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิชาต่างๆแนะนำให้รู้จักสถานศึกษารวมทั้งให้รู้สึกภูมิใจที่ได้มาศึกษาในสถานศึกษาแห่งนั้น
๖.๓ แสดงความหวังว่าผู้มาเยี่ยมจะได้รับความสะดวกสบายระหว่างที่พำนักอยู่ในสถานที่นั้น หรือระหว่างการเยี่ยมเยือนนั้น
๖.๔ สรุปเป็นทำนองเรียกร้องให้อาคันตุกะกลับมาเยี่ยมเยือนอีก ส่วนในกรณีที่เป็นผู้มาใหม่ก็หวังว่าจะได้ร่วมงานกันตลอดไปด้วยความราบรื่น


วิธีการกล่าวต้อนรับ
๑. ควรกล่าวต้อนรับสั้น ๆ และไม่ควรพูดเกิน ๑๕ นาที
๒.ในกรณีผู้มาเยี่ยมนั้นมาเป็นกลุ่มในนามของสถาบันเช่นองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเยี่ยม องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้กล่าวต้อนรับ จะกล่าวแสดงความยินดีและกล่าวอ้างถึง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองสถาบันพร้อมทั้งย้ำถึงความร่วมมือของสถาบันทั้งสองในโอกาสต่อไปด้วย
จะจบด้วยการสรุปตามหลักข้างต้นก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น